วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2554

อ้างอิง

หมวดที่ 1-9 จาก 
http://www.siamjurist.com/forums/1606.html

ตัวอย่างข้อสอบ โดยความอนุเคราะห์จาก

อาจารย์ สมชาย พงษ์พัฒนาศิลป์

ตัวอย่างข้อสอบ วิชาทรัพย์

คำถาม ข้อ 1

นายเอกให้นายโทดูแลที่ดินมี น.ส.๓ รวม ๒ แปลง ตั้งแต่ปี ๒๕๔๐ นายโทเข้าทำกินและดูแลที่ดินดังกล่าวแทนนายเอกโดยเที่ยวบอกชาวบ้านว่าที่ดิน ดังกล่าวเป็นของนายโท ต่อมานายโทลงเล่นการเมืองท้องถิ่นเสียเงินไปมาก นายโทจึงบอกขายที่ดินแปลงแรก นายตรีเข้าใจว่านายโทเป็นเจ้าของที่ดิน นายตรีจึงซื้อที่ดินจากนายโทราคา ๒๐๐,๐๐๐ บาท โดยทำสัญญาเป็นหนังสือและส่งมอบที่ดินกันเองเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๐ และในวันดังกล่าวนายจัตวาเห็นว่านายโทไม่ได้สนใจที่ดินแปลงหลัง นายจัตวาจึงเข้าทำกินและล้อมรั้วที่ดินแปลงหลังโดยนายโทไม่ทราบ ต่อมาวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๑ นายเอกมาดูที่ดินของตนเพื่อจะนำไปใช้ประโยชน์ นายเอกพบนายตรีและนายจัตวาในที่ดินดังกล่าว นายตรีและนายจัตวาบอกนายเอกว่าที่ดินที่นายตรีและนายจัตวาครอบครองเป็นของตน นายเอกจึงฟ้องขับไล่นายตรีและนายจัตวาเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๑



ให้วินิจฉัยว่า นายเอก กับนายตรีและจัตวา ใครมีสิทธิในที่ดินดีกว่ากัน

คำตอบ

การที่นายเอกให้นายโทดูแลที่ดินแทน นายเอกจึงมีสิทธิครอบครองที่ดินโดยมีผู้อื่นยึดถือไว้ให้ตามประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๖๘ การที่นายโทเข้าทำกินและดูแลที่ดินดังกล่าวแทนโดยเที่ยวบอกชาวบ้านว่าที่ดิน ดังกล่าวเป็นของนายโท ไม่เป็นการเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตามมาตรา ๑๓๘๑ นายโทยังเป็นผู้ยึดถือที่ดินแทนนายเอกตลอดมา

ต่อมานายโทขายที่ดินแปลงแรกให้แก่นายตรีนั้น เมื่อนายโทเป็นเพียงผู้ยึดถือแทน นายโทจึงไม่มีสิทธินำที่ดินไปขายให้แก่นายตรี แม้นายตรีจะซื้อที่ดินจากนายโทโดยทำสัญญาเป็นหนังสือและส่งมอบที่ดินกันเอง นายตรีก็ไม่ได้สิทธิครอบครอง เพราะนายตรีผู้รับโอนย่อมไม่มีสิทธิดีกว่านายโทผู้โอน (คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๓๙๓/๒๕๕๐ ฎ.ส.ล. น.) แม้นายตรีบอกนายเอกว่าที่ดินที่นายตรีครอบครองเป็นของตนเมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๑ จะเป็นการเปลี่ยนเจตนาแห่งการยึดถือตามมาตรา ๑๓๘๑ แต่นายเอกฟ้องขับไล่นายตรีเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๑ เป็นการฟ้องเรียกคืนการครอบครองภายใน ๑ ปี นับแต่ถูกแย่งการครอบครองตามมาตรา ๑๓๗๕ นายเอกมีสิทธิในที่ดินดีกว่านายตรี (๕ คะแนน)

ส่วนการที่นายจัตวาจึงเข้าทำกินและล้อมรั้วที่ดินแปลงหลังเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๐ นั้น ถือว่านายจัตวาเข้าแย่งการครอบครองของนายเอกตั้งแต่วันดังกล่าว แม้นายเอกจะรู้ภายหลัง นายเอกก็ต้องฟ้องเรียกคืนการครอบครองภายใน ๑ ปีนับแต่วันที่ถูกแย่งการครอบครองไม่ใช่ ๑ ปีนับแต่วันรู้ว่าถูกแย่ง กล่าวคือต้องฟ้องภายใน ๑ ปีนับจากวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๐ แต่นายเอกฟ้องขับไล่นายจัตวาเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๑ เป็นการฟ้องเรียกคืนการครอบครองเกิน ๑ ปี นับจากวันถูกแย่งการครอบครองตามมาตรา ๑๓๗๕ นายเอกจึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่นายจัตวาแล้ว นายจัตวาจึงมีสิทธิในที่ดินแปลงหลังดีกว่านายเอก (๕ คะแนน)


ข้อสังเกต

คำตอบไม่มีเรื่องการซื้อขายเป็นโมฆะ แต่การส่งมอบการครอบครองบังคับได้ เพราะประเด็นเรื่องส่งมอบใช้ไม่ได้ และกรณีนี้ผู้ขายไม่มีชื่อในเอกสารสิทธิ ผมจึงไม่ใส่ประเด็นเรื่องการซื้อขายเป็นโมฆะไว้ในคำตอบ



คำถาม ข้อที่ 2

นายเอกยอมให้นายโทมีสิทธิอาศัยในบ้าน และมีสิทธิเหนือพื้นดินบนที่ดินของนายเอก โดยไม่ได้จดทะเบียนและไม่มีกำหนดระยะเวลา ระหว่างที่นายโทอยู่อาศัยในบ้านและที่ดินดังกล่าวนายโทปลูกต้นสักบนที่ดินใน บริเวณรั้วบ้าน ๒๐ ต้น และมีต้นมะม่วงขึ้นเองตามธรรมชาติ ๑๐ ต้น ต่อมาอีก ๑๐ ปี นายโทได้รับอนุญาตจากทางราชการให้ตัดต้นสักดังกล่าว และต้นมะม่วงมีผลเต็มต้น เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๑ นายโทจึงขายต้นสักและผลมะม่วงทั้งหมดให้แก่นายตรี โดยให้นายตรีตัดต้นสักและเก็บผลมะม่วงเองในวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๕๑ และนายตรีได้ชำระเงินค่าต้นสัก ๘๐,๐๐๐ บาทและค่าผลมะม่วง ๒๐,๐๐๐ บาท ให้แก่นายโทรวม ๑๐๐,๐๐๐ บาทเรียบร้อยแล้ว ในวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๕๑นายเอกและนายโทมีปากเสียงกัน นายเอกจึงไล่นายโทให้ออกจากบ้านและที่ดิน นายโทยอมออกจากบ้านและที่ดินดังกล่าวไป ต่อมาวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๕๑ นายตรีมาที่บ้านดังกล่าวเพื่อขอตัดต้นสักและเก็บผลมะม่วง แต่นายเอกไม่ยอม ให้วินิจฉัยว่า นายเอกหรือนายตรีมีสิทธิในต้นสักและผลมะม่วงดีกว่ากัน

คำตอบ

นายเอกยอมให้นายโทมีสิทธิอาศัยในบ้านและมีสิทธิเหนือพื้นดินบนที่ดินของนาย เอก แม้ไม่ได้จดทะเบียนจะไม่บริบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ มาตรา ๑๒๙๙ วรรคหนึ่ง แต่ก็บริบูรณ์เป็นบุคคลสิทธิใช้ยันกันได้ระหว่างคู่สัญญา (๒ คะแนน)

แม้ไม้ยืนต้นจะเป็นส่วนควบกับที่ดินที่ไม้นั้นขึ้นอยู่ตามมาตรา ๑๔๕ วรรคหนึ่ง แต่นายโทมีบุคคลสิทธิตามสัญญาซึ่งเป็นผู้ปลูกต้นสัก ต้นสักจึงเป็นทรัพย์ซึ่งติดกับที่ดิน ซึ่งนายโทมีสิทธิในที่ดินของผู้อื่นใช้สิทธิปลูกไว้ในที่ดินนั้น ไม่ถือว่าเป็นส่วนควบกับที่ดินตามมาตรา ๑๔๖ นายโทผู้ปลูกต้นสักจึงเป็นเจ้าของต้นสักซึ่งตนได้ปลูกขึ้นตามมาตรา ๑๔๑๐ (๒ คะแนน)

ส่วนต้นมะม่วงขึ้นเองตามธรรมชาติ ไม่ใช่สิ่งเพาะปลูกที่นายโทปลูกไว้ เมื่อต้นมะม่วงเป็นไม้ยืนต้นย่อมเป็นส่วนควบกับที่ดินที่ไม้นั้นขึ้นอยู่ตาม มาตรา ๑๔๕ วรรคหนึ่ง นายเอกซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินจึงเป็นเจ้าของต้นมะม่วงตามมาตรา ๑๔๔ วรรคสอง (ประเด็นนี้ดูในอธิบายกฎหมายลักษณะทรัพย์ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช พ.ศ.๒๕๕๑ น.๗๐) (๒ คะแนน)

เมื่อนายโทเป็นเจ้าของต้นสักดังที่วินิจฉัยมาแล้ว แม้ต้นสักจะเป็นทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินอันมีลักษณะเป็นการถาวร ซึ่งถือว่าเป็นอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา ๑๓๙ แต่นายโทขายต้นสักให้แก่นายตรี โดยให้นายตรีตัดต้นสักเอง เจตนาของนายโทและนายตรีประสงค์จะซื้อต้นสักที่ตัดออกจากที่ดินแล้ว จึงเป็นการซื้อสังหาริมทรัพย์ การซื้อขายต้นสักดังกล่าวจึงไม่ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงาน เจ้าหน้าที่ เมื่อนายโทเป็นเจ้าของต้นสัก นายโทจึงมีสิทธิขายต้นสักดังกล่าวได้ตามมาตรา ๑๓๓๖ นายตรีจึงมีกรรมสิทธิ์ในต้นสักดีกว่านายเอก (๒ คะแนน)

นายเอกเป็นเจ้าของต้นมะม่วงดังที่วินิจฉัยมาแล้ว แม้นายโทซึ่งมีสิทธิอาศัยในบ้าน จะมีสิทธิเก็บเอาดอกผลธรรมดาแห่งที่ดินมาใช้เพียงที่จำเป็นแก่ความต้องการ ของครัวเรือน ตามมาตรา ๑๔๐๖ แต่ผลมะม่วงซึ่งเป็นดอกผลธรรมดาสามารถถือเอาได้เมื่อขาดจากต้นมะม่วงตาม มาตรา ๑๔๘ วรรคสอง เมื่อนายโทและนายตรียังไม่ได้สอยผลมะม่วงออกจากต้น ผลมะม่วงยังเป็นส่วนหนึ่งของต้นมะม่วงอยู่ นายเอกซึ่งเป็นเจ้าของต้นมะม่วงจึงยังมีสิทธิในผลมะม่วงดีกว่านายตรี (๒ คะแนน)


คำถาม ข้อ 3

เมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๔๐ นายทองซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินมีโฉนด ขายที่ดินนั้นให้แก่นายเพชรโดยทำหนังสือสัญญากันเอง และส่งมอบที่ดินให้นายเพชร นายเพชรเข้าครอบครองทำนาในที่ดินแปลงดังกล่าวติดต่อกันมาจนถึงวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๔๕ นายเพชรหยุดทำนาเพราะถูกจำคุกข้อหาเสพยาบ้า ๖ เดือน และเข้าทำนาตามปกติหลังจากพ้นโทษและได้ครอบครองทำนาในทีดินดังกล่าวจนถึงวัน ที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๕๐ นายทองขายที่ดินให้แก่นายพลอย โดยนายทองหลอกนายพลอยว่านายเพชรอาศัยที่ดินดังกล่าวทำนา นายพลอยหลงเชื่อจึงจดทะเบียนซื้อที่ดินดังกล่าวมา ต่อมานายพลอยทราบว่านายเพชรครอบครองที่ดินมาก่อนจึงฟ้องขับไล่นายเพชร

ให้วินิจฉัยว่านายพลอยมีอำนาจฟ้องขับไล่นายเพชรได้หรือไม่

คำตอบ

แม้สัญญาซื้อขายระหว่างนายทองกับนายเพชรที่ทำกันเองจะเป็นโมฆะ แต่นายทองได้ส่งมอบที่ดินให้นายเพชรครอบครอง นายเพชรเข้าครอบครองทำนาในที่ดินแปลงดังกล่าว เป็นการเข้ายึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน นายเพชรจึงได้สิทธิครอบครองที่ดินที่ซื้อขายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๖๗ (๕ คะแนน)

นายเพชรเข้าครอบครองทำนาในที่ดินแปลงดังกล่าวตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๔๐ จนถึงวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๔๕ แม้นายเพชรหยุดทำนาเพราะถูกจำคุกข้อหาเสพยาบ้า ๖ เดือน และเข้าทำนาตามปกติหลังจากพ้นโทษ ก็ถือว่านายเพชรผู้ครอบครองขาดการยึดถือโดยไม่สมัครใจ และได้การครอบครองกลับคืนมาภายในเวลาหนึ่งปีนับตั้งแต่วันขาดยึดถือ ไม่ถือว่าการครอบครองสะดุดหยุดลงตามมาตรา ๑๓๘๔ (๕ คะแนน)

เมื่อนายเพชรครอบครองทำนาในทีดินดังกล่าวจนถึงวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๕๐ จึงเป็นผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี นายเพชรย่อมกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา ๑๓๘๒ (๕ คะแนน)

การที่นายทองหลอกนายพลอยว่านายเพชรอาศัยที่ดินดังกล่าวทำนา นายพลอยหลงเชื่อจึงจดทะเบียนซื้อที่ดินดังกล่าวมา แสดงว่านายพลอยได้อสังหาริมทรัพย์มาโดยสุจริต แม้นายเพชรจะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินมาโดยการครอบครองปรปักษ์ แต่ก็เป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม เมื่อนายเพชรยังไม่ได้จดทะเบียนการได้มา นายเพชรจึงไม่อาจยกการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ของตน ขึ้นต่อสู้นายพลอยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดย สุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง (๕ คะแนน)

นายพลอยจึงมีอำนาจฟ้องขับไล่นายเพชรได้



คำถาม ข้อ 4

นายกิ่งมีที่ดินติดต่อกับที่ดินของนายก้าน นายกิ่งเดินผ่านที่ดินของนายก้านโดยเจตนาใช้เป็นทางออกไปสู่ถนนสาธารณะ ติดต่อกันเป็นเวลา ๕ ปี นายกิ่งขายที่ดินให้แก่นางกรอง นางกรองใช้ทางเดินนั้นต่อมาอีก ๓ ปี แล้วย้ายไปใช้ทางเส้นใหม่ในที่ดินของนายก้าน เพราะนายก้านปลูกบ้านทับทางเดิม นางกรองใช้ทางใหม่อีก ๔ ปี แล้วนายก้านขายที่ดินให้นายแก้ว นายแก้วปิดทางไม่ให้นางกรองใช้ทางอีกต่อไป โดยอ้างว่านางกรองใช้ทางใหม่มาเพียง ๔ ปี ไม่ได้ภารจำยอมโดยอายุความ และถึงอย่างไรก็ตามนายแก้วซื้อที่ดินมาโดยสุจริตและจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต ไม่ทราบว่ามีทางภารจำยอม สิทธิของนางกรองหากมีก็เป็นอันสิ้นไป ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่านางกรองจะฟ้องบังคับนายแก้วให้เปิดทางได้หรือไม่

(ข้อสอบเนติฯ สมัยที่ ๓๕ ปีการศึกษา ๒๕๒๕ น.๒๐๗)

คำตอบ

การที่นายกิ่งใช้ทางเดินผ่านที่ดินของนายก้านออกสู่ถนนสาธารณะติดต่อกันเป็น เวลา ๕ ปี แล้วขายที่ดินให้แก่นางกรอง และนางกรองใช้ทางเดินต่อมาอีก ๓ ปีนั้น นางกรองมีสิทธินับเวลาที่นายกิ่งใช้ทางเข้าด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘๕ จึงถือว่านางกรองใช้ทางมาแล้วรวม ๘ ปี (คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๓๖๙/๒๕๑๘ น. ๒๑๕๐) (๕ คะแนน)

ที่นางกรองย้ายไปใช้เส้นทางใหม่ในที่ดินของนายก้านอีก ๔ ปี เพราะนายก้านปลูกบ้านทับทางเดิม การย้ายทางของนางกรองก็เพื่อประโยชน์ของนายก้านเจ้าของที่ดินตามมาตรา ๑๓๙๒ จึงต้องนับอายุความภารจำยอมการใช้ทางติดต่อกันรวมเป็นเวลาใช้ทางทั้งสิ้น ๑๒ ปี (คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๑๓๔/๒๕๑๖ น. ๙๙๖) (๕ คะแนน)

เมื่อนางกรองใช้ทางติดต่อกันมาเกินสิบปีทางใหม่จึงตกอยู่ในภารจำยอมโดยอายุค วาม เพื่อประโยชน์ของที่ดินนางกรองตามมาตรา ๑๓๘๒, ๑๓๘๗, ๑๔๐๑ (๓ คะแนน)

ส่วนที่นายแก้วซื้อที่ดินจากนายก้านโดยสุจริตและจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตไม่ ทราบว่ามีทางภารจำยอมนั้น นายแก้วจะยกขึ้นต่อสู้เพื่อให้ทางภารจำยอมที่มีอยู่ในที่ดินนั้นต้องสิ้นไป หาได้ไม่ เนื่องจากการคุ้มครองบุคคลภายนอกตามมาตรา 1299 วรรคสอง ต้องเป็นสิทธิประเภทเดียวกัน สิทธิที่นายแก้วได้มาเป็นการได้สิทธิในลักษณะกรรมสิทธิ์ ซึ่งเป็นสิทธิคนละอย่างกับของนางกรองคือภารจำยอมซึ่งเป็นการรอนสิทธิ เมื่อเป็นสิทธิคนละประเภท นายแก้วจึงอ้างมาตรา 1299 วรรคสอง มายันนางกรองไม่ได้ เพราะภารจำยอมจะสิ้นไปก็ต่อเมื่อภารยทรัพย์หรือสามยทรัพย์สลายไปทั้งหมด หรือมิได้ใช้สิบปี ตามมาตรา ๑๓๙๗, ๑๓๙๙ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๘๐๐/๒๕๐๒ ประชุมใหญ่ น. ๑๑๕๐, ๑๖๕/๒๕๒๒ น. ๑๖๕) เมื่อนายแก้วปิดทางภารจำยอม นางกรองย่อมฟ้องบังคับนายแก้วให้เปิดทางได้ (๗ คะแนน)


acknoeledgment ;

อาจารย์ สมชาย พงษ์พัฒนาศิลป์

หมวดที่ 9 ทรัพย์สิทธิ และการได้มา ซึ่งกรรมสิทธิ

ทรัพยสิทธิ คือ สิทธิที่มีวัตถุแห่งสิทธิเป็นทรัพยสินหรือเป็นสิทธิ ที่อยู่เหนือทรัพย์สินนั้นอันจะบังคับเอาแก่ตัวทรัพย์สินนั้นได้โดยตรงและ การก่อตั้งทรัพยสิทธิได้นั้นจะต้องมีกฎหมายรองรับ
บุคคลสิทธิ เป็นสิทธิเกิดขึ้นจากสัญญาเป็นหลัก เป็นสิทธิที่บุคคลซึ่งเป็นคู่สัญญานั้นก่อตั้งขึ้น บังคับได้แต่เฉพาะตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีเท่านั้น
ข้อแตกต่างระหว่างทรัพยสิทธิกับบุคคลสิทธิ
๑. ทรัพยสิทธิเป็นสิทธิที่มีวัตถุแห่งสิทธิเป็นทรัพยสินโดยตรง ใช้ยันได้กับทุกคน ในการจำหน่าย จ่าย โอน ติดตามเอาทรัพย์นั้นหรือห้ามคนอื่นเข้าเกี่ยวข้อง แต่บุคคลสิทธิเป็นสิทธิที่มีอยู่เหนือตัวบุคคล ใช้บังคับได้แต่เฉพาะตัวบุคคลที่เป็นคู่กรณีและผู้สืบสิทธิของคู่กรณีเท่า นั้น ลักษณะของบุคคลสิทธิเป็นเรื่องให้กระทำการ งดเว้นกระทำการ หรือส่งมอบทรัพย์สิน
๒. การก่อตั้งทรัพยสิทธิจะต้องมีกฎหมายรองรับ ส่วนบุคคลสิทธิโดยทั่วไปจะก่อตั้งขึ้นมาโดยนิติกรรมสัญญา แต่บางกรณีสิทธิที่เป็นบุคคลสิทธิอาจจะเกิดจากการที่มีกฎหมายรองรับว่ามี บุคคลสิทธิได้ ซึ่งเรียกว่านิติเหตุ
๓. ทรัพย์สิทธิก่อให้เกิดหน้าที่แก่บุคคลทั่วไปที่จะต้องยอมรับนับถือ ที่จะต้องเคารพคนที่เป็นเจ้าของทรัพยสิทธิหรือคนที่ทรงทรัพยสิทธินั้น ส่วนบุคคลสิทธิใช้บังคับได้แต่เฉพาะคู่กรณีหรือผู้สืบสิทธิของคู่กรณีเท่า นั้น
๔. ทรัพยสิทธิเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ยังคงใช้หรือคงมีอยู่ตลอดไป ถึงแม้ว่าจะไม่ใช้ในเวลาต่อมาก็ตาม ส่วนบุคคลสิทธิต้องใช้ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ ถ้าไม่ใช้ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ ก็จะบังคับใช้ไม่ได้ซึ่งเราเรียกว่าอายุความ

การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์
“มาตรา ๑๒๙๙ ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น ท่านว่าการได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับ อสังหาริมทรัพย์นั้นไม่บริบูรณ์ เว้นแต่นิติกรรมจะได้ทำเป็นหนังสือและได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้า หน้าที่
ถ้ามีผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริม ทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม สิทธิของผู้ได้มานั้น ถ้ายังมิได้จดทะเบียนไซร้ ท่านว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้ และสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนนั้น มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดย สุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว”

การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์มีอยู่ ๒ ประการ
๑. การได้มาโดยทางนิติกรรม
๒. การได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม อาจได้มาในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ดังต่อไปนี้
๒.๑ การได้มาตามที่กฎหมายบัญญัติไว้
๒.๒ การได้มาโดยทางมรดก
๒.๓ การได้มาโดยคำพิพากษา
ข้อสังเกต
(๑) การได้มาโดยคำพิพากษาจะต้องเป็นการได้มาโดยเด็ดขาด ถ้าเป็นการได้มาตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งได้พิพากษาตามยอมแล้ว หรือได้มาตามคำพิพากษายังไม่ถึงที่สุด คือยังไม่มีผลให้กรรมสิทธิ์โอนมาทันที จึงไม่ถือว่าเป็นการได้มาโดยทางอื่นนอกจากทางนิติกรรม แต่ก็ถือได้ว่าผู้นั้นอยู่ในฐานะที่จดทะเบียนสิทธิของตนอยู่ได้ก่อนตามมาตรา ๑๓๐๐ จึงมีสิทธิดีกว่าเจ้าหนี้อื่น
(๒) การได้มาโดยทางนิติกรรม กฎหมายบัญญัติไว้เพียงว่าไม่บริบูรณ์ คือ ไม่บริบูรณ์ในฐานะที่เป็นทรัพยสิทธิ ไม่ได้หมายความว่าถ้าไม่ได้ทำเป้นหนังสือและจดทะเบียนแล้วจะเป็นโมฆะหรือ เสียเปล่าโดยใช้บังคับกับใครไม่ได้ แต่ยังสามารถใช้บังคับในระหว่างคู่กรณีหรือคู่สัญญานั้นได้ในฐานะบุคคลสิทธิ
(๓) การได้มาโดยทางนิติกรรมหากไม่ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้า หน้าที่ซึ่งไม่บริบูรณ์นั้น นอกจากจะใช้ยันบุคคลภายนอกในฐานะที่เป็นทรัพยสิทธิไม่ได้แล้วในระหว่างคู่ สัญญาด้วยกันจะฟ้องบังคับให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งไปจดทะเบียนให้บริบูรณ์ เป็นทรัพยสิทธิก็ไม่ได้
ข้อสังเกต
(๓.๑) ถ้ามีข้อตกลงบังคับว่าจะไปจดทะเบียนกันในภายหลังและได้ทำสัญญาเป็นหนังสือ โดยกำหนดวันไว้แน่นอนว่าวันใดจะไปจดทะเบียนโอนกันกับพนักงานเจ้าหน้าที่ ถ้าอีกฝ่ายไม่ปฏิบัติตาม อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องบังคับให้ไปจดทะเบียนได้
(๓.๒) คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๓๘๐/๒๕๔๒ โจทก์จำเลยตกลงกันด้วยวาจาให้โจทก์มีสิทธิเก็บกิน ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตลอดชีวิตของโจทก์ เพื่อเป็นการตอบแทน ในการที่โจทก์ยกที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้นให้แก่จำเลย ซึ่งเป็นบุตรของโจทก์ จำเลยจะมีผลประโยชน์จากสิ่งปลูกสร้างโดยได้เงินกินเปล่าจากผู้เช่า ส่วนโจทก์มีรายได้เฉพาะการเก็บค่าเช่าเท่านั้น ข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อตกลงพิเศษอย่างสัญญาต่างตอบแทน ก่อให้เกิดบุคคลสิทธิแก่โจทก์ ในอันที่จะเรียกร้องให้จำเลยไปจดทะเบียนสิทธิเก็บกินนั้น ตราบใดที่จำเลยผู้เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ยังมิได้โอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้นให้แก่บุคคลอื่น โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนสิทธิเก็บกินได้
(๔) การเปลี่ยนแปลง การกลับคืนมาหรือการระงับซึ่งสิทธิต่างๆ อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษตามมาตรา ๑๓๐๑ และ ๑๓๐๒ การได้มาจะต้องโดยทางนิติกรรมและทางอื่นนอกจากทางนิติกรรมตามมาตรา ๑๒๙๙ ด้วย
(๕) มาตรา ๑๒๙๙ มีข้อจำกัดในการใช้ คือไม่ใช้กับการจำกัดสิทธิของเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้เป็น พิเศษแล้วในมาตรา ๑๓๓๘-๑๓๕๕



ข้อยกเว้นของการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์โดยทางนิติกรรม
๑. หลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน
การได้มาโดยทางนิติกรรมแม้จะได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนแล้วก็ตาม แต่หากผู้โอนไม่มีอำนาจหรือไม่มีสิทธิที่จะโอนอสังหาริมทรัพย์หรือ ทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ให้นั้น ผู้รับโอนก็จะไม่ได้ไปซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สิทธิอันเกี่ยวกับ อสังหาริมทรัพย์นั้น
ตัวอย่าง
(๑) ซื้อที่ดินจากผู้ที่ไม่มีอำนาจขายแม้จะเป็นการซื้อขายโดยสุจริตก็ไม่ได้ กรรมสิทธิ์นั้น ผู้ซื้อย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกเงินคืนจากผู้ขายได้
(๒) มีคนปลอมหนังสือมอบอำนาจแล้วเอาโฉนดที่ดินไปจดทะเบียนจำนองไว้ ผู้ปลอมย่อมไม่มีสิทธิเอาที่ดินไปจำนองเพราะไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน คนรับจำนองไว้ก็ไม่มีสิทธิด้วย ทั้งนี้เจ้าของที่ดินจะต้องไม่ประมาทเลินเล่อด้วย
ข้อสังเกต แม้จะไม่ได้กรรมสิทธิ์หรือทรัพยสิทธิโดยนิติกรรมตามหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิ ดีกว่าผู้โอนก็ตาม แต่ผู้นั้นอาจจะได้กรรมสิทธิ์หรือทรัพยสิทธินั้นโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม มาตรา ๑๓๘๒ ได้

ข้อยกเว้นของหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน
๑. กรณีเรื่องตัวแทนเชิดตามมาตรา ๘๒๑ ถ้าบุคคลภายนอกสุจริต ก็จะไม่นำหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอนมาใช้
๒. การได้กรรมสิทธิ์มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง
๓. การโอนอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์เป็นทาง เสียเปรียบแก่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน บุคคลผู้นั้นอาจเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนนั้นได้ แต่จะเพิกถอนทะเบียนบุคคลภายนอกผู้รับโอนโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนไม่ได้ ตามมาตรา ๑๓๐๐
๔. สิทธิของบุคคลผู้ได้มาซึ่งทรัพย์สินโดยมีค่าตอบแทนและโดยสุจริตไม่เสียไป ถึงแม้ว่าผู้โอนทรัพย์สินให้จะได้ทรัพย์สินนั้นมาโดยนิติกรรมอันเป็นโมฆียะ และนิติกรรมนั้นได้ถูกบอกล้างภายหลังตามมาตรา ๑๓๒๙
๕. สิทธิของบุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินโดยสุจริตในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล หรือคำสั่งเจ้าพนักงานรักษาทรัพย์ในคดีล้มละลายนั้นไม่เสียไป ถึงแม้ภายหลังจะพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์สินนั้นไม่ใช่ของจำเลย หรือลูกหนี้โดยคำพิพากษา หรือผู้ล้มละลายตามมาตรา ๑๓๓๐
๖. สิทธิของบุคคลผู้ได้เงินตรามาโดยสุจริตนั้นไม่เสียไปถึงแม้ภายหลังจะพิสูจน์ ได้ว่าเงินนั้นไม่ใช่ของบุคคลซึ่งได้โอนให้มาตามมาตรา ๑๓๓๑
๗. บุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินมาโดยสุจริตในการขายทอดตลาดหรือในท้องตลาด หรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น ไม่จำต้องคืนให้แก่เจ้าของแท้จริง เว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมาตามมาตรา ๑๓๓๒

คำพิพากษาฎีกาในเรื่องข้อยกเว้นหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน
๑. สิทธิครอบครองตามมาตรา ๑๓๘๒ ที่ยังไม่ได้จดทะเบียนจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้รับโอนซึ่งได้ สิทธิมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทน และจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสองแล้วมิได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๓๔๖/๒๕๐๖)
๒. บุคคลภายนอกที่จะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง ต้องเป็นการได้สิทธิในที่ดินที่จดทะเบียนแล้วและสิทธิที่ได้นั้นต้องเกิดจาก เอกสารสิทธิ์ของที่ดินที่ออกโดยชอบด้วย เมื่อการออกโฉนดที่ดินไม่ชอบผู้รับจำนอง (บุคคลภายนอก) จะอ้างสิทธิที่เกิดขึ้นจากส่วนที่ออกโดยชอบไม่ได้ กรณีไม่อยู่ในบังคับของมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง (คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๒๒๙/๒๕๔๙)
ข้อสังเกต ข้อ ๒ นี้ เป็นเรื่องข้อยกเว้นของข้อยกเว้นหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน

มาตรา ๑๒๙๙ วรรคหนึ่ง
ข้อสังเกต
(๑) การได้มาโดยทางนิติกรรมแม้จะไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้า หน้าที่จะเป็นผลให้การได้มาไม่บริบูรณ์ก็ตาม แต่ผู้ที่ได้มาถือว่าอยู่ในฐานะที่จะจดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม มาตรา ๑๓๐๐ ถ้ามีการโอนไปทำให้เสียเปรียบก็ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนได้ เว้นแต่คนที่ได้รับโอนไปทำการโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน
(๒) การซื้อที่ดินโดยสุจริตจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลตามมาตรา ๑๓๓๐ แม้จะยังไม่ได้ทำนิติกรรมโอนต่อเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้ซื้อก็มีสิทธิและอำนาจฟ้องขับไล่ผู้ที่อาศัยในที่ดินได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๐๘/๒๕๐๖ ผู้ซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลไว้โดยสุจริตถึงแม้จะยังไม่ได้ทำ นิติกรรมโอนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ซื้อย่อมมีสิทธิและมีอำนาจฟ้องขับไล่ ผู้ที่อาศัยอยู่ในที่ดินนั้นให้ออกไปได้
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๓๐ เป็นบทกฎหมายกำหนดเรื่องการขายทอดตลาดทรัพย์ตามคำสั่งศาลไว้เป็นกรณีพิเศษ ไม่อยู่ในข่ายของการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ทั่วไปดังที่ได้บัญญัติเรื่องแบบ นิติกรรมไว้ตามมาตรา ๔๕๖
ผู้ครอบครองที่ดินจะรู้หรือไม่ว่ามีการขายทอดตลาดก็หาเป็นเหตุที่จะยกขึ้น ต่อสู้สิทธิของผู้ซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลได้ไม่
(๓) ไม่นำมาตรา ๑๒๙๙ วรรคหนึ่ง มาใช้กับกรณีที่การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับ อสังหาริมทรัพย์ในทางนิติกรรมนั้น เป็นการได้มาของแผ่นดินหรือกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยทางนิติกรรม จึงไม่จำเป้นต้องไปทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคหนึ่ง


มาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง
ผลของการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริม ทรัพย์ตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง
๑. จะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนใดๆ ไม่ได้ เพราะยังไม่ได้จดทะเบียนการได้มา
ข้อสังเกต จะต้องฟ้องหรือร้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ได้กรรมสิทธิ์มาโดยครอบ ครองปรปักษ์ แต่ศาลจะไปบังคับให้เจ้าของเดิมไปจดทะเบียนโอนให้ไม่ได้ ต้องถือคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลเป็นหลักฐานแทน
๒. จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิอย่างเดียวกัน โดยมีค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้วนั้นไม่ได้
ข้อสังเกต
(๑) ผู้สืบสิทธิหรือทายาทของเจ้าของทรัพย์ไม่ใช่บุคคลภายนอก
(๒) เจ้าหนี้สามัญไม่อยู่ในฐานะของบุคคลภายนอก
(๓) เจ้าหนี้บุริมสิทธิ ถือว่าเป็นบุคคลภายนอก
(๔) ทรัพยสิทธิของบุคคลภายนอกที่ได้มานั้นจะต้องเป็นประเภทเดียวกันกับ ทรัพยสิทธิของผู้ที่ได้มาโดยทางอื่นนอกจากทางนิติกรรม ดังนั้น ถ้าเป็นทรัพยสิทธิคนละประเภท เช่น กรรมสิทธิ์กับภาระจำยอม ก็ไม่อยู่ในบังคับของมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง
๓. การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองและมีคำพิพากษารับรองการได้สิทธิในการ ครอบครองในภายหลังที่ได้มีการโอนให้บุคคลภายนอกแล้ว จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้วไม่ได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๓๖๖/๒๕๑๖)
๔. บุคคลภายนอกรับโอนมาแล้วมีการโอนต่อไปเป็นช่วงๆ หลายทอด คนที่ได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม จะต่อสู้บุคคลภายนอกที่มีการโอนกันเป็นช่วงๆ ไม่ได้ หากผู้รับโอนช่วงได้รับโอนมาจากผู้โอนซึ่งสุจริต เสียค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนแล้ว แต่ถ้าเป็นการได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมหากได้อยู่ต่อมาจนครอบครอง ปรปักษ์ครบ ๑๐ ปี เช่นนี้สิทธิในการได้ที่ดินพิพาทมาโดยการครอบครองปรปักษ์เกิดขึ้นใหม่ คนที่ได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมจึงมีอำนาจสู้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๕๑๑/๒๕๑๘ โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโดยครอบครองเกิน ๑๐ ปี แต่ไม่ได้จดทะเบียน ใช้ยัน อ. ผู้ซื้อโดยสุจริตไม่ได้ โจทก์ครอบครองต่อมาไม่ถึง ๑๐ ปี อ. ขายที่ดินต่อไปแก่จำเลย ไม่ว่าจำเลยสุจริตหรือไม่ โจทก์ก็ไม่มีสิทธิดีกว่าจำเลย คำสั่งศาลที่โจทก์ร้องขอให้แสดงว่าโจทก์ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ใช้ยัน อ. และจำเลยไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๐๐๗/๒๕๔๐ โจทก์เป็นทายาทได้รับที่ดินมรดกของ ป. เป็นการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ส่วนจำเลยกับ น.รับโอนที่ดินดังกล่าวมาโดยผู้โอนขายให้ โดยเสียค่าตอบแทนและโดย สุจริตและได้จดทะเบียนโดยสุจริต เมื่อที่ดินส่วนของ น. น.มีสิทธิดีกว่าโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง แม้ต่อมาที่ดินส่วนนี้จะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ ห.เมื่อห.ถึงแก่กรรมจำเลยและถ.เป็นผู้รับโอนมรดกที่ดินส่วนของ ห. โดยไม่เสียค่าตอบแทน โจทก์ก็ไม่อาจยกสิทธิของตนใช้ยันจำเลยได้ เพราะสิทธิของโจทก์ขาดตอนไปแล้ว ตั้งแต่ น. รับโอนทางทะเบียนโดยสุจริต จะนำหลักกฎหมายทั่วไปที่ว่า ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอนมาใช้บังคับไม่ได้เพราะสิทธิหลักกฎหมายทั่ว ไปดังกล่าว
๕. มาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง โดยปกติจะใช้บังคับแต่ที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์เท่านั้น แต่ต่อมามีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยให้รวมถึงที่ดินที่มีหนังสือสำคัญแสดงสิทธิ ครอบครองด้วย เช่น น.ส.๓ หรือ น.ส.๓ ก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๒๗/๒๕๓๘ ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓) แม้โจทก์จะได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทมาจริงดังโจทก์กล่าวอ้างการได้มา ของโจทก์ก็เป็นการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ซึ่งถ้า ยังมิได้จดทะเบียนไซร้โจทก์ก็จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิในที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่1โดยเสียค่าตอบ แทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้วหาได้ไม่ตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์มาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง
๖. กรณีโอนที่ดินสลับโฉนดกัน หากได้มีการโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่บุคคลภายนอกโดยสุจรติและเสียค่าตอบแทน ก็ต้องอยู่ภายในบังคับของมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง แต่ถ้าไม่มีบุคคลภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้องเลยผู้ที่ครอบครองที่ดินอยู่ก็มี สิทธิให้เจ้าของเดิมโอนโฉนดที่ดินดังกล่าวนั้นให้ถูกต้องได้
๗. กรณีที่ใส่ชื่อบุคคลอื่นไว้ในฐานะเป็นตัวแทน ตัวการผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นโดยไม่จำเป็นต้อง ไปจดทะเบียนก็สมบูรณ์ โดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตัวการสามารถนำสืบให้เห็นว่าตัวแทนถือกรรมสิทธิ์ที่ดินแทนตัวการ โดยไม่ถือว่าเป็นการสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสาร
๘. กรณีผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนและหากผู้ได้มานั้นจะได้คืนอสังหาริมทรัพย์ให้แก่เจ้า ของเดิม เช่นนี้เจ้าของเดิมไม่ต้องแก้ไขทางทะเบียน


acknowledgment ;

http://www.siamjurist.com/forums/1606.html

หมวดที่ 8 ดอกผล

ดอกผล
ดอกผลมีอยู่ ๒ ชนิด คือ
๑. ดอกผลธรรมดา
๒. ดอกผลนิตินัย
ดอกผลธรรมดา หมายความว่า สิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของทรัพย์ ซึ่งได้มาจากตัวทรัพย์ โดยการมีหรือใช้ทรัพย์นั้นตามปกตินิยม และสามารถถือเอาได้เมื่อขาดจากทรัพย์นั้น
ดอกผลนิตินัย หมายความว่า ทรัพย์หรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้มาเป็นครั้งคราวแก่เจ้าของทรัพย์จากผู้ อื่นเพื่อการที่ได้ใช้ทรัพย์นั้น และสามารถคำนวณและถือเอาได้เป็นรายวันหรือตามระยะเวลาที่กำหนดไว้

สาระสำคัญของดอกผลนิตินัย
๑. ดอกผลนิตินัยต้องเป็นทรัพย์หรือเป็นประโยชน์
๒. ดอกผลนิตินัยต้องเป็นทรัพย์ที่ตกได้แก่เจ้าของแม่ทรัพย์
๓. ดอกผลนิตินัยจะต้องตกได้แก่ผู้เป็นเจ้าของแม่ทรัพย์เป็นการตอบแทนจากการที่ ผู้อื่นได้ใช้ตัวแม่ทรัพย์นั้น
๔. ดอกผลนิตินัยจะต้องเป็นดอกผลที่ตกได้แก่เจ้าของแม่ทรัพย์เป็นครั้งคราว
ข้อสังเกต ผลกำไรที่ได้จากการขายทรัพย์ไม่ใช่ดอกผลนิตินัย แต่ผลกำไรที่ได้จากการแบ่งกำไรของห้างหุ้นส่วนหรือเงินปันผลให้แก่ผู้ถือ หุ้นในบริษัท ถือว่าเป็นดอกผลนิตินัย

ผู้ใดมีสิทธิในดอกผล
เจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเป็นเจ้าของดอกผลของตัวแม่ทรัพย์นั้น ไม่ว่าจะเป็นดอกผลนิตินัยหรือดอกผลธรรมดา
ข้อสังเกต มาตรา ๔๙๒ กำหนดให้กรรมสิทธิ์ในทรัพยสินที่ขายฝากเป็นของผู้ไถ่ตั้งแต่เวลาที่ผู้ไถ่ หรือวางทรัพย์อันเป็นสินไถ่แล้วแต่กรณี เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะมีการไถ่ทรัพย์หรือวางทรัพย์เพื่อไถ่ทรัพย์นั้น ผู้รับซื้อผากก็ไม่ต้องคืนดอกผล

ข้อยกเว้นที่ผู้อื่นมีสิทธิในดอกผล
๑. มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษ เช่น
๑.๑ ดอกผลของสินส่วนตัวเป็นสินสมรส (มาตรา ๑๔๗๔ (๓))
๑.๒ บุคคลผู้ได้รับทรัพย์สินไว้โดยสุจริต ย่อมจะได้ดอกผลอันเกิดแต่ทรัพย์สินนั้นตลอดเวลาที่ยังคงสุจริตอยู่ (มาตรา ๔๑๕ วรรคหนึ่ง)
๑.๓ ถ้าจะต้องส่งทรัพย์สินคืนแก่ผู้มีสิทธิเอาคืน ผู้นั้นไม่ต้องคืนดอกผลคราบเท่าที่ยังสุจริตอยู่ เมื่อใดรู้ว่าจะต้องคืนก็ถือว่าไม่สุจรติแล้ว (มาตรา ๑๓๗๖)
๒. มีข้อตกลงไว้เป็นอย่างอื่น
๓. บุคคลที่ไม่ได้เป็นเจ้าของแม่ทรัพย์นั้นมีสิทธิเอาดอกผลไปชำระหนี้ที่เจ้า ของแม่ทรัพย์เป็นหนี้ตน



acknowledgment ;

http://www.siamjurist.com/forums/1606.html

หมดที่ 7 ส่วนควบ และ อุปกรณ์

ส่วนควบ
ความหมาย
ส่วนควบของทรัพย์ หมายความว่า ส่วนซึ่งโดยสภาพแห่งทรัพย์หรือโดยจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นเป็นสาระสำคัญใน ความเป็นอยู่ของทรัพย์นั้น และไม่อาจแยกจากกันได้นอกจากจะทำลาย ทำให้บุบสลาย หรือทำให้ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรงหรือสภาพไป
ข้อสังเกต เจ้าของทรัพย์ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในส่วนควบของทรัพย์นั้น

ไม้ยืนต้น
ไม้ยืนต้นเป็นส่วนควบกับที่ดินที่ไม้นั้นขึ้นอยู่ แต่หากเป็นไม้ล้มลุกหรือธัญชาติอันจะเก็บเกี่ยวรวงผลได้คราวหนึ่งหรือหลาย คราวต่อปีไม่เป็นส่วนควบกับที่ดิน
ทรัพย์ติดกับที่ดิน
ทรัพย์ซึ่งติดกับที่ดินหรือติดกับโรงเรือนเพียงชั่วคราวไม่ถือว่าเป็นส่วน ควบกับที่ดินหรือโรงเรือนนั้น ความข้อนี้ให้ใช้บังคับแก่โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ซึ่งผู้มีสิทธิในที่ดินของผู้อื่นใช้สิทธินั้นปลูกสร้างไว้ในที่ดินนั้นด้วย

องค์ประกอบของส่วนควบ
๑. เป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของตัวทรัพย์ มีอยู่ ๒ ลักษณะคือ
๑.๑ โดยสภาพของตัวทรัพย์เอง
๑.๒ โดยจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น
ข้อสังเกต
(๑) บ้านเป็นสาระสำคัญของที่ดิน บ้านจึงเป็นส่วนควบของที่ดิน
(๒) ครัวตามจารีตประเพณีเป็นสาระสำคัญของตัวเรือน
(๓) เครื่องจักรทำน้ำโซดาและอุปกรณ์ทำน้ำโซดาไม่ได้เป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ ของที่ดิน ไม่เป็นส่วนควบของที่ดิน
๒. ทรัพย์ที่มารวมกันนั้นไม่อาจแยกจากกันได้ นอกจากจะทำลาย ทำให้บุบสลายหรือทำให้ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรงหรือสภาพไป

ข้อยกเว้นเรื่องส่วนควบ
(๑) ไม้ล้มลุกและธัญชาติอันจะเก็บเกี่ยวรวงผลได้คราวหนึ่งหรือหลายคราวต่อปี ไม่ถือว่าเป็นส่วนควบของที่ดิน
(๒) ทรัพย์ซึ่งติดกับที่ดินหรือโรงเรือนเพียงชั่วคราวไม่ถือว่าเป็นส่วนควบของ ที่ดินหรือโรงเรือนนั้น

ตัวอย่าง นายแดงตกลงให้นายดำปลูกต้นสนในที่ดินของนายแดง โดยเมื่อต้นสนโตเต็มที่แล้วก็จะตัดขายเอาเงินมาแบ่งกัน ต้นสนจึงไม่เป็นส่วนควบของที่ดิน ดังนั้น แม้นายแดงจะนำที่ดินไปจำนองให้แก่นายขาว นายขาวก็ไม่มีสิทธิบังคับเอาจากต้นสนของนายดำ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก นายดำมีสิทธิขอกันส่วนได้
ข้อสังเกต ในกรณีที่โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินนั้นไม่เป็นส่วนควบเพราะเข้าข้อ ยกเว้นตามมาตรา ๑๔๖ ผู้มีสิทธิปลูกสร้างยังเป็นเจ้าของโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างนั้นอยู่ แต่จะยกขึ้นต่อสู้กับผู้รับจำนองโดยสุจริตไม่ได้ เพราะสิทธินั้นไม่ได้จดทะเบียน ผู้รับจำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างก็มีสิทธิบังคับชำระหนี้เอาจากทั้งที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างนั้นได้ เพราะผู้รับจำนองเป็นบุคคลภายนอกไม่ได้รู้เห็นด้วย
๓. โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นซึ่งผู้มีสิทธิในที่ดินของผู้อื่นได้ใช้ สิทธินั้นปลูกสร้างไว้ในที่ดินนั้น โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว ไม่ถือว่าเป็นส่วนควบของที่ดินที่ปลูกสร้างลงไปนั้น โดยสิทธิที่จะปลูกสร้างในที่ดินของผู้อื่นมีอยู่ ๒ ลักษณะด้วยกัน คือ
๓.๑ สิทธิตามสัญญา
ข้อสังเกต
(๑) สิทธิตามสัญญานี้จะมีหลักฐานเป็นหนังสือหรือไม่ก็ได้ จะทำโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายก็ได้
(๒) เจ้าอาวาสปลูกเรือนในที่ดินธรณีสงฆ์ของวัดโดยใช้เงินของผู้อื่นซึ่งมีศรัทธา ถวายเพื่อเป็นที่พักอาศัยของคนมาทำบุญ เรือนจึงเป็นส่วนควบของที่ดิน
(๓) เช่าที่ดินเพื่อปลูกสร้างโรงเรือน โรงเรือนนั้นไม่เป็นส่วนควบของที่ดิน
(๔) ปลูกตึกแถวลงในที่ดินโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาเช่าที่ดินมีกำหนด ๑๕ ปี แล้วจึงให้ตึกแถวนั้นตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่ดิน เมื่อยังไม่ครบ ๑๕ ปี ตึกแถวก็ยังไม่เป็นส่วนควบ กรรมสิทธิ์จึงยังไม่ตกเป็นเจ้าของที่ดิน
(๕) นายแดงสร้างทางเท้าและคันหินลงในที่ดินของนายดำ โดยนายดำยินยอมเป็นสิทธิตามสัญญา นายดำจะเลิกเสียเมื่อใดก็ได้ เมื่อนายดำเลิกแล้ว นายแดงไม่มีสิทธิใช้ต่อไป ทางเท้าและคันหินนั้นก็ไม่เป็นส่วนควบเพราะเป็นการปลูกสร้างลงในที่ดินของ นายดำโดยอาศัยสิทธิที่นายดำยินยอมให้ทำได้
(๖) ผู้จะขายที่ดินยอมให้ผู้จะซื้อเข้าไปปลูกบ้านในที่ดินที่จะขาย ถือว่าผู้จะซื้อเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินของผู้จะขายในอันที่จะปลูกบ้านได้ บ้านไม่เป็นส่วนควบของที่ดิน
๓.๒ สิทธิในที่ดินของผู้อื่นในลักษณะที่เป็นทรัพยสิทธิ


ใครเป็นเจ้าของส่วนควบ
กรณีที่เป็นทรัพย์สินเดียวมักไม่มีปัญหาแต่ปัญหาจะอยู่ที่มีการนำเอาทรัพย์ หลายสิ่งมารวมกันจนเป็นส่วนควบ กฎหมายกำหนดให้เจ้าของทรัพย์ประธานเป็นเจ้าของส่วนควบ
ข้อสังเกต
(๑) ตัวถังรถยนต์เป็นทรัพย์ประธาน
(๒) ที่ดินเป็นทรัพย์ประธานของบ้านและสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินนี้รวมถึงที่ดินที่ มีกรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครองด้วย

ข้อยกเว้นหลักที่ว่าใครเป็นเจ้าของทรัพย์ประธานย่อมเป็นเจ้าของส่วนควบ ด้วยนั้น
(๑) การสร้างโรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง หรือปลูกต้นไม้ในที่ดินของผู้อื่นโดยไม่สุจรติ (มาตรา ๑๓๑๑ และ ๑๓๑๔)
(๒) การสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต ซึ่งมาตรา ๑๓๑๒ วรรคหนึ่ง กำหนดให้คนสร้างโรงเรือนที่รุกล้ำเป็นเจ้าของโรงเรือนที่สร้างนั้น แต่ต้องเสียเงินให้แก่เจ้าของที่ดินเป็นค่าใช้ที่ดินนั้น
(๓) ถ้าเอาสังหาริมทรัพย์ของบุคคลหลายคนมารวมเข้ากันจนเป็นส่วนควบหรือแบ่งแยก ไม่ได้ว่าทรัพย์ใดเป็นทรัพย์ประธาน มาตรา ๑๓๑๖ บัญญัติให้ทุกคนเป็นเจ้าของในทรัพย์ใหม่ที่รวมเข้ากัน

การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในส่วนควบของเจ้าของทรัพย์ตามมาตรา ๑๔๔ วรรคสอง เป็นการได้มาโดยผลของกฎหมาย จึงไม่จำเป้นต้องมีการจดทะเบียนกันอีก
คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๖๑/๒๔๘๘ เช่าที่ดินของผู้อื่นปลูกตึกโดยตกลงว่าจะให้ตึกเป็นสิทธิแก่เจ้าของที่ดินจะ เป็นในทันทีหรือในภายหน้าก็ตาม เมื่อถึงกำหนดนั้น ๆ แล้วตึกย่อมตกเป็นกรรมสิทธิแก่เจ้าของที่ดินโดยไม่ต้องมีการโอนทะเบียน ในกรณีเช่นนี้ถ้าโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทำการโอนก็ต้องตัดสินยกฟ้อง
คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๐๕๕/๒๕๓๔ โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากจำเลยทั้งสอง แต่ในหนังสือขายที่ดินระบุว่าไม่มีสิ่งปลูกสร้างดังนี้ บ้านพิพาทจึงเป็นส่วนควบกับที่ดินและตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสอง โดยไม่จำต้องจดทะเบียนกรรมสิทธิ์บ้านพิพาทต่อพนักงานเจ้าหน้าที่อีก เมื่อโจทก์ทั้งสองครอบครองบ้านพิพาทซึ่งเป็นของตนเองเช่นนี้ จึงไม่เป็นครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘๒ ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองโต้แย้งสิทธิในบ้านพิพาทของโจทก์ทั้งสองแต่ อย่างใดโจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้อง

สรุปเรื่องของกรรมสิทธิ์ในส่วนควบ
๑. กรรมสิทธิ์ของเจ้าของทรัพย์ที่เป็นประธานตามมาตรา ๑๔๔ วรรคสอง มีความสำคัญหรือมีอำนาจเหนือกว่าคนที่ได้รับกรรมสิทธิ์ในส่วนควบมาในลักษณะ ของกรรมสิทธิ์โดยทั่วๆ ไป
๒. เจ้าของทรัพย์เป็นประธานเป็นเจ้าของส่วนควบตามมาตรา ๑๔๔ วรรคสอง ซึ่งเป็นการได้มาโดยผลของกฎหมาย ดังนั้น แม้ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ก็ไม่จำเป็นต้องมีการจดทะเบียน
๓. การก่อตั้งสิทธิเหนือพื้นดินในกรรมสิทธิ์ในตัวส่งนควบแยกต่างหากออกจาก กรรมสิทธิ์จากทรัพย์ที่เป็นประธานนั้นจะมีผลผูกพันบุคคลภายนอกได้ก็ต่อเมื่อ ได้ก่อตั้งขึ้นมาในลักษณะที่เป็นสิทธิเหนือพื้นดินตามมาตรา ๑๔๑๐
๔. การก่อตั้งสิทธิเหนือพื้นดินจะต้องอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา ๑๒๙๙ คือต้องจดทะเบียน ถ้าไม่จดทะเบียนก็ไม่บริบูรณ์ในฐานะเป็นทรัพยสิทธิ์ แต่แม้จะมิได้จดทะเบียนก็สามารถบังคับได้ในฐานะบุคคลสิทธิ์ แต่จะใช้ต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนไม่ได้


อุปกรณ์
อุปกรณ์ หมายความว่า สังหาริมทรัพย์ซึ่งโดยปกตินิยมเฉพาะถิ่นหรือโดยเจตนาชัดแจ้งของเจ้าของ ทรัพย์ที่เป็นประธาน เป็นของใช้ประจำอยู่กับทรัพย์ที่เป็นประธานเป็นอาจิณเพื่อประโยชน์แก่การจัด ดูแล ใช้สอย หรือรักษาทรัพย์ที่เป็นประธาน และเจ้าของทรัพย์ได้นำมาสู่ทรัพย์ที่เป็นประธานโดยการนำมาติดต่อหรือปรับ เข้าไว้ หรือทำโดยประการอื่นใดในฐานะเป็นของใช้ประกอบกับทรัพย์ที่เป็นประธานนั้น
อุปกรณ์ที่แยกออกจากทรัพย์ที่เป็นประธานเป็นการชั่วคราวก็ยังไม่ขาดจากการ เป็นอุปกรณ์ของทรัพย์ที่เป็นประธานนั้น
อุปกรณ์ย่อมตกติดไปกับทรัพย์ที่เป็นประธาน เว้นแต่จะมีการกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

องค์ประกอบของการเป็นอุปกรณ์
๑. อุปกรณ์จะต้องมีทรัพย์ที่เป็นประธาน
๒. อุปกรณ์จะต้องเป็นสังหาริมทรัพย์
๓. อุปกรณ์จะต้องไม่มีสภาพรวมกับทรัพย์ที่เป็นประธานจนไม่สามารถแยกออกจากกัน ได้
๔. อุปกรณ์ต้องไม่ใช่เป็นทรัพย์ที่เป็นประธานด้วยกันหรือมีความสำคัญเท่ากัน
๕. อุปกรณ์จะต้องเป็นทรัพย์ที่เป็นเจ้าของเดียวกันกับทรัพย์ที่เป็นประธาน
๖. อุปกรณ์จะต้องเป็นของใช้ประจำอยู่กับทรัพย์ที่เป็นประธานเป็นอาจิณ
ข้อสังเกต มีหลักเกณฑ์ ๒ ประการ คือ
๖.๑ พิจารณาจากปกตินิยมเฉพาะถิ่น
๖.๒ พิจารณาจากเจตนาของเจ้าของทรัพย์ที่เป็นประธาน
๗. อุปกรณ์ต้องใช้ประจำเป็นอาจิณกับทรัพย์ที่เป็นประธานเพื่อประโยชน์ในการจัด ดูแล ใช้สอย หรือรักษาทรัพย์ที่เป็นประธาน

คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๘๑๔/๒๕๔๕ จำเลยนำวิทยุเครื่องเล่นเทป เครื่องเล่นซีดี ลำโพงและอุปกรณ์ เครื่องเสียงมาสู่รถที่เช่าซื้อก็เพื่อประโยชน์ของจำเลยมิใช่เพื่อประโยชน์ แก่การจัดดูแล ใช้สอยหรือรักษาทรัพย์ที่เป็นประธานคือรถที่เช่าซื้อทรัพย์ดังกล่าวจึงมิใช่ อุปกรณ์อันจะตกติดไปกับทรัพย์ประธานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๗ วรรคท้าย
สัญญาเช่าซื้อที่ระบุว่า หากผู้เช่าซื้อนำสิ่งของเข้ามาดัดแปลงต่อเติม ติดหรือตั้งอยู่ในตัวทรัพย์สินที่เช่าซื้อ สิ่งนั้นจะตกเป็นส่วนหนึ่งของตัวทรัพย์สินที่เช่าซื้อและเป็นกรรมสิทธิ์ของ เจ้าของทันที มีที่มาจากปัญหาซึ่งมักจะเกิดแก่โจทก์ที่ต้องพิพาทกับผู้เช่าซื้อในกรณีที่ ผู้เช่าซื้อนำสิ่งของเข้ามาดัดแปลง ต่อเติม ติดหรือตั้งกับทรัพย์ที่เช่าซื้อและจะเอาสิ่งของนั้นคืน เมื่อต้องคืนทรัพย์ที่เช่าซื้อแก่โจทก์ แต่การรื้อสิ่งของที่ว่านั้นออกไปจะทำให้ทรัพย์ที่เช่าซื้อเสียหายได้ ฉะนั้น ลำพังการที่จำเลยนำทรัพย์ดังกล่าวมาสู่ตัวรถที่เช่าซื้อ ย่อมไม่ถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความเสียหายหากจะต้องรื้อออกไป จึงไม่อยู่ในขอบแห่งข้อสัญญาดังกล่าว โจทก์ไม่อาจยกมาเป็นเหตุไม่คืนวิทยุ เครื่องเล่นเทป เครื่องเล่นซีดี ลำโพงและอุปกรณ์เครื่องเสียงให้แก่จำเลย

คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๐๑/๒๔๘๗ ในสัญญาซื้อขายระบุว่าขายที่ดินกับสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินนั้นย่อมครอบถึงโรง เรือนบนที่ดินซึ่งเสาไม่ได้ฝังดินด้วย
กรณีที่ถือว่าช่อไฟฟ้าที่ติดอยู่กับสิ่งปลูกสร้าง ไม่ใช่เป็นเครื่องอุปกรณ์ซึ่งไม่ตกติดไปกับสิ่งปลูกสร้างที่ขาย
๘. อุปกรณ์จะต้องเป็นทรัพย์ที่เจ้าของทรัพย์ที่เป็นประธานนำมาสู่ทรัพย์ที่เป็น ประธานโดยการนำมาติดหรือปรับเข้าไว้หรือกระทำด้วยประการใดในฐานะเป็นเครื่อง ใช้เพื่อประโยชน์ในการจัดดูแลใช้สอยหรือรักษาทรัพย์ที่เป็นประธาน

 acknowledgment ;
http://www.siamjurist.com/forums/1606.html

หมวดที่ 6 ทรัพย์นอกพาณิชย์

ทรัพย์นอกพาณิชย์ หมายความว่า ทรัพย์ที่ไม่สามารถถือเอาได้และทรัพย์ที่โอนแก่กันมิได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
ทรัพย์นอกพาณิชย์มีความหมาย ๒ ประการ คือ
๑. ทรัพย์ที่ไม่สามารถถือเอาได้
๒. ทรัพย์ที่โอนแก่กันไม่ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย

ทรัพย์นอกพาณิชย์ที่กฎหมายห้ามโอนจะต้องมีอยู่ ๒ ประการ คือ
(๑) ต้องเป็นการห้ามโอนโดยกฎหมายบัญญัติไว้
(๒) ลักษณะของการห้ามโอนจะต้องเป็นการห้ามโอนโดยถาวร
ข้อสังเกต
(๑) สิทธิที่จะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นทรัพย์นอกพาณิชย์จะสละหรือโอนไม่ได้
(๒) ที่วัด ที่ธรณีสมฆ์ หรือที่ศาสนสมบัติกลางเป็นทรัพย์นอกพาณิชย์
(๓) ทรัพย์นอกพาณิชย์ที่โอนกันไม่ได้ตามกฎหมาย ต้องเป็นกรณีที่มีกฎหมายห้ามโอนเท่านั้น แต่ถ้าเป็นการห้ามโอนโดยนิติกรรมก็ไม่ถือว่าเป็นทรัพย์นอกพาณิชย์
(๔) การห้ามโอนโดยมีกำหนดระยะเวลา เช่น การห้ามโอนตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพหรือประมวลกฎหมาย ที่ดิน ไม่ใช่เป้นการห้ามโอนโดยถาวรจึงไม่เป้นทรัพย์นอกพาณิชย์ กรณีนี้มีปัญหาว่าการทำสัญญาจะซื้อจะขายกันไว้ก่อนว่าพอพ้นกำหนดเวลาแล้ว ค่อยโอนกัน ข้อสัญญาดังกล่าวจะใช้บังคับได้หรือไม่ ซึ่งตรงนี้มีข้อพิจารณาว่า
(๔.๑) ถ้าข้อเท็จจริงแสดงให้เห็นโดยชัดเจนว่า เป้นการจงใจหลีกเลี่ยงกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ห้ามโอนก็เป็นโมฆะ
(๔.๒) ถ้าข้อเท็จจริงแสดงให้เห็นโดยชัดแจ้งว่าไม่เป็นการจงใจหลีกเลี่ยง ก็ไม่เป็นโมฆะ

ตัวอย่างที่ ๑ นาย ก. มีที่ดินเป็น น.ส.๓ ซึ่งมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน ๑๐ ปี ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวให้แก่นาย ข. โดยมีข้อตกลงกันว่าจะจดทะเบียนเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาห้ามโอน เมื่อนาย ก. ยังไม่ได้มีการส่งมอบการครอบครองที่ดินดังกล่าวภายในระยะเวลาห้ามโอน ๑๐ ปี จึงถือว่าไม่ได้จงใจหลีกเลี่ยงข้อห้ามตามกฎหมาย สัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวไม่เป้นโมฆะ

ตัวอย่างที่ ๒ นายแดงมีที่ดินเป็น น.ส.๓ ซึ่งมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน ๑๐ ปี ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวให้แก่นายดำภายในระยะเวลาห้ามโอน โดยได้มีการชำระเงินกันแล้วและนายแดงได้มอบที่ดินให้นายดำเข้าครอบครองแล้ว โดยมีข้อตกลงกันว่านายแดงจะจดทะเบียนโอนให้เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาห้ามโอน จึงเป็นการจงใจหลีกเลี่ยงกฎหมายโดยชัดแจ้ง สัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวจึงตกเป้นโมฆะ

ตัวอย่างที่ ๓ นายแดงเจ้าของที่ดินทำสัญญาซื้อขายที่ดินให้กับนายดำในระยะเวลาห้ามโอนตาม กฎหมาย สัญญาซื้อขายดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ จึงไม่อาจส่งมอบการครอบครองที่ดินแก่กันได้ นายดำจึงไม่ได้สิทธิครอบครอง แต่หากพ้นระยะเวลาห้ามโอนแล้ว นายแดงได้สละเจตนาครอบครองหรือนายแดงได้มีการมอบการครอบครองให้แก่นายดำแล้ว เช่นนี้นายดำก็มีสิทธิครอบครอง แต่ถ้านายแดงยังไม่ได้สละเจตนาครอบครองหรือมิได้มีการมอบการครอบครองให้แก่ นายดำ แม้นายดำจะยังคงครอบครองที่ดินพิพาทอยู่ต่อมาก็ถือว่านายดำครอบครองแทนนาย แดง เมื่อถือว่านายดำเป็นผู้ครอบครองที่ดินแทนนายแดง หากนายดำโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่บุคคลภายนอก ก็จะเข้าหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน เพราะถือว่าบุคคลภายนอกครอบครองที่ดินแทนนายแดงเช่นเดียวกัน แต่ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่านายดำเข้าครอบครองที่ดินนับแต่ได้ซื้อจากนายแดงมา ตลอดแม้ในระยะเวลาห้ามโอน นายดำยังไม่ได้สิทธิครอบครอง แต่เมื่อนายดำครอบครองที่ดินตลอดมาจนล่วงระยะเวลาห้ามโอนแล้วเป็นเวลานานถึง ๑๐ ปีเศษ และเสียภาษีบำรุงท้องที่ในนามของนายดำตลอดมาโดยไม่มีผู้อื่นเข้ามายุ่ง เกี่ยวแย่งการครอบครอง การครอบครองที่ดินของนายดำดังกล่าวจึงเป็นการยึดถือโดยเจตนายึดถือเพื่อตน แล้ว นายดำย่อมได้สิทธิครอบครองตามมาตรา ๑๓๖๗


 acknowledgement ;
http://www.siamjurist.com/forums/1606.html

หมวดที่ 5 ทรัพย์แบ่งได้และทรัพย์แบ่งไม่ได้

ทรัพย์แบ่งได้ หมายความว่า ทรัพย์อันอาจแยกออกจากกันเป็นส่วนๆ ได้จริงถนัดชัดแจ้ง แต่ละส่วนได้รูปบริบูรณ์ลำพังตัว
ทรัพย์แบ่งไม่ได้ หมายความว่า ทรัพย์อันจะแยกออกจากกันไม่ได้ นอกจากเปลี่ยนแปลงภาวะของทรัพย์ และหมายความรวมถึงทรัพย์ที่มีกฎหมายบัญญัติว่าแบ่งไม่ได้ด้วย
การแบ่งประเภททรัพย์ออกเป็นทรัพย์แบ่งได้และทรัพย์แบ่งไม่ได้ ส่วนใหญ่จะใช้เพื่อประโยชน์ของผู้เป็นเจ้าของรวม เพราะถ้าเป็นทรัพย์แบ่งได้ก็มักไม่มีปัญหา สามารถแบ่งได้ตามส่วน แต่หากเป็นทรัพย์แบ่งไม่ได้อาจต้องมีวิธีแบ่งอย่างอื่น เช่น นำทรัพย์ไปขายเพื่อนำเงินมาแบ่งกัน เป็นต้น

ทรัพย์แบ่งได้ มีองค์ประกอบดังนี้
(๑) ต้องเป็นทรัพย์ที่สามารถแยกออกจากกันได้
(๒) เมื่อแยกออกจากกันได้แล้วไม่เสียสภาพรูปทรงไป

ทรัพย์แบ่งไม่ได้ มีความหมาย ๒ นัย คือ
(๑) ทรัพย์แบ่งไม่ได้โดยสภาพ
(๒) ทรัพย์ที่กฎหมายบัญญัติว่าแบ่งไม่ได้
ข้อสังเกต
(๑) หุ้นเป็นทรัพย์แบ่งแยกไม่ได้ตามมาตรา ๑๑๑๘ วรรคหนึ่ง
(๒) ส่วนควบ ภาระจำยอม และสิทธิจำนอง แบ่งไม่ได้



acknowledgment ;
http://www.siamjurist.com/forums/1606.html

หมวดที่ 4 ข้อสังเกตุเกี่ยวกับทรัพย์ต่างๆ

ข้อสังเกตเกี่ยวกับที่ดิน
(๑) ที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์เท่านั้นจึงจะมีการครอบครองปรปักษ์ได้ ถ้าเป็นที่ดินที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ก็จะครอบครองปรปักษ์ไม่ได้
(๒) ที่ดินที่มีแต่เพียงสิทธิครองครองโอนกันได้ด้วยการส่งมอบเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องจดทะเบียน แต่การจดทะเบียนก็อาจจะมีได้หากเป็นที่ดินที่มีทะเบียนที่ดิน เช่น น.ส. ๓ หรือ น.ส. ๓ ก
(๓) ที่ดินพิพาทซึ่งนายดำครอบครองอยู่เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรอง การทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก) ที่นายแดงมีชื่อเป็นผู้มีสิทธิครอบครองอยู่ จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามมาตรา ๑๓๗๓ ว่า นายแดงซึ่งมีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ข้อสนันิษฐานตามมาตรา ๑๓๗๓ จึงรวมถึงที่ดินที่มี น.ส. ๓ และ น.ส. ๓ ก ด้วย
ข้อสังเกต เรื่องนี้ถือมาตรา ๑๓๗๓ มาก่อนมาตรา ๑๓๖๗ กล่าวคือ ผู้ที่มีชื่อเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้มีสิทธิครอบครองใน น.ส. ๓ หรือ น.ส. ๓ ก ได้ประโยชน์จากข้อสันนิษฐานเป็นคุณมากกว่าคนที่ครอบครองยึดถืออยู่ตามมาตรา ๑๓๖๗
(๔) ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า เพราะหนังสือรับรองทำประโยชน์ไม่ใช่หนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ บุคคลจะพึงมีสิทธิเหนือที่ดินพิพาทคงมีแต่สิทธครอบครอง แม้นายดำจะได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทโดยการยึดถือครอบครองแต่การได้มาของ นายดำเป็นการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิ์อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอก จากนิติกรรม ซึ่งถ้ายังไม่ได้จดทะเบียน นายดำจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้นายแดงซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสีย ค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้วไม่ได้ตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง นายแดงจึงเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินพิพาท

ข้อสังเกตเกี่ยวกับทรัพย์อันติดกับที่ดินมีลักษณะเป็นการถาวร
(๑) ทรัพย์อันติดกับที่ดินมีลักษณะเป็นการถาวร แบ่งได้เป็น ๒ อย่าง คือ ทรัพย์ที่ติดกับที่ดินโดยธรรมชาติ กับทรัพย์ที่ติดกับที่ดินโดยไม่ได้เกิดจากธรรมชาติ
(๒) ต้นพลูเป็นไม้ยืนต้นจึงเป็นอสังหาริมทรัพย์
(๓) ทรัพย์ที่มีลักษณะติดกับที่ดินเป็นการถาวรแล้ว จะติดอยู่กับที่ดินนานเท่าไรไม่สำคัญ ถ้าโดยสภาพมีลักษณะติดกับที่ดินเป็นการถาวรก็เป็นอสังหาริมทรัพย์แม้จะติด อยู่เป้นระยะเวลาไม่นานก็ตาม
(๔) เครื่องจักรโรงสีไม่ใช่ส่วนควบ เป็นเพียงของใช้ประจำอยู่กับโรงสีจึงเป็นอุปกรณ์ซึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์เท่า นั้น ไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์
(๕) แผงลอยที่มิได้ติดกับที่ดินมีลักษณะเป็นการถาวรไม่เป็นอสังหาริมทรัพย์

ข้อสังเกตของทรัพย์ซึ่งประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดิน
ทรัพย์ซึ่งประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินหากแยกออกจากตัวพื้นดิน ก็ย่อมขาดจากลักษณะของการเป็นทรัพย์ที่ประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดิน
ตัวอย่าง ขุดดินในที่ดินไปขายถือว่าเป็นการขายสังหาริมทรัพย์ ไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์ เพราะดินได้ขาดออกจากตัวที่ดินแล้วจึงเป็นสังหาริมทรัพย์

ข้อสังเกตทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์
(๑) สิทธิรับจำนองที่ดินเป็นอสังหาริมทรัพย์
(๒) หุ้นในห้างหุ้นส่วนสามัญซึ่งมีทรัพย์สินเป็นที่ดินไม่ใช่สิทธิในอสังหาริม ทรัพย์
(๓) สิทธิเช่าซื้อเป็นบุคคลสิทธิไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์
(๔) สิทธิเช่าอาคารเป็นสิทธิเกียวกับตัวอาคารไม่เป้นอสังหาริมทรัพย์แต่เป็น สังหาริมทรัพย์



acknoeledgement ;
http://www.siamjurist.com/forums/1606.html

หมวดที่ 3 ประเภทของทรัพย์ และ คำอธิบาย

ประเภทของทรัพย์สิน
๑. อสังหาริมทรัพย์
๒. สังหาริมทรัพย์
๓. ทรัพย์แบ่งได้
๔. ทรัพย์แบ่งไม่ได้
๕. ทรัพย์นอกพาณิชย์

อสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์
(๑) อสังหาริมทรัพย์ที่เป็นที่ดินจะต้องมีเจ้าของกรรมสิทธิ์เสมอ แต่สังหาริมทรัพย์อาจจะไม่มีเจ้าของก็ได้
(๒) ทรัพย์สิทธิบางอย่าง ได้แก่ สิทธิอาศัย สิทธิเก็บกิน ภาระจำยอม สิทธิเหนือพื้นดิน และภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ มีได้เฉพาะในอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น ส่วนในสังหาริมทรัพย์ไม่มีสิทธิดังกล่าว
(๓) ระยะเวลาในการครอบครองปรปักษ์ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์มีระยะเวลา ๑๐ ปี แต่ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์มีระยะเวลาครอบครองปรกักษ์ ๕ ปีเท่านั้น
(๔) การทำนิติกรรมเกี่ยวกับการโอนหรือการก่อตั้งสิทธิต่างๆ ในอสังหาริมทรัพย์ โดยปกติจะต้องทำตามแบบที่กฎหมายกำหนดไม่งั้นเป็นโมฆะหรือไม่สมบูรณ์หรือไม่ บริบูรณ์ แต่ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ปกติไม่ได้กำหนดแบบไว้ ยกเว้นกรณีสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษที่กฎหมายกำหนดให้ต้องทำตามแบบ
(๕) แดนกรรมสิทธิ์มีได้เฉพาะในอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น สังหาริมทรัพย์ไม่มีแดนกรรมสิทธิ์
(๖) สิทธิของคนต่างด้าวในการเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์มีข้อจำกัด แต่ในสังหาริมทรัพย์โดยปกติไม่มีข้อจำกัด

ความหมายของอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์
อสังหาริมทรัพย์ หมายความว่า ที่ดินและทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินมีลักษณะเป็นการถาวรหรือประกอบเป็นอัน เดียวกับที่ดินนั้น และหมายความรวมถึงทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับที่ดิน หรือทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินหรือประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้นด้วย
สังหาริมทรัพย์ หมายความว่า ทรัพย์สินอื่นนอกจากอสังหาริมทรัพย์ และหมายความรวมถึงสิทธิอันเกี่ยวกับทรัพย์สินนั้นด้วย

อสังหาริมทรัพย์ประกอบด้วยทรัพย์สิน ๔ ประเภท คือ
ก. ที่ดิน
ข. ทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินที่มีลักษณะเป็นการถาวร
ค. ทรัพย์ที่ประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดิน
ง. ทรัพย์สิทธิ์อันเกี่ยวกับที่ดินหรือทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินหรือประกอบ เป็นอันเดียวกับที่ดิน



acknowledgment ;  
http://www.siamjurist.com/forums/1606.html

หมวด 2 ความหมายของทรัพย์และทรัพย์สิน

ความหมายของทรัพย์และทรัพย์สิน
ทรัพย์ หมายความว่า วัตถุมีรูปร่าง
ทรัพย์สิน หมายความรวมทั้งทรัพย์และวัตถุไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้
ข้อสังเกต ทรัพย์ นอกจากหมายความรวมถึงวัตถุมีรูปร่างแล้ว จะต้องเป็นวัตถุที่อาจมีราคาและอาจถือเอาได้ด้วยตามความหมายของทรัพย์สิน
ความหมายของคำว่า “อาจมีราคาและอาจถือเอาได้”
วัตถุมีรูปร่างหรือไม่มีรูปร่างจะเป็นทรัพย์และทรัพย์สินได้ก็ต่อเมื่ออาจมี ราคาและอาจถือเอาได้ ถ้าขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไปก็ไม่ถือว่าเป็นทรัพย์หรือทรัพย์สิน
ข้อสังเกต ร่างกายของมนุษย์ถ้ารวมอยู่ในส่วนของร่างกายไม่ใช่ทรัพย์สิน แต่ถือว่าป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย แต่ถ้าขาดออกหรือหลุดออกมาแล้วก็อาจเป็นทรัพย์ได้ เช่น เส้นผมหรือเล็บมือ เป็นต้น ในส่วนของศพจะเป็นทรัพย์หรือไม่นั้น ยังไม่มีข้อยุติและแนวคำวินิจฉัยของศาลฎีกาก็ยังไม่ชัดเจน

กรณีสิทธิต่างๆ นั้น แม้จะไม่มีรูปร่าง แต่หากมีราคาและอาจถือเอาได้ ศาลฎีกาก็เคยมีคำพิพากษาว่าเป็นทรัพย์สิน เช่น
(๑) หุ้นในบริษัท
ข้อสังเกต การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อผู้ถือจะต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อของผู้โอนและ ผู้รับโอนและมีพยานอย่างน้อย ๒ คน รับรองลายมือชื่อของผู้โอนและผู้รับโอน หากไม่ทำตามเป็นโมฆะ แต่ถึงแม้การโอนจะเป็นโมฆะก็ตาม หากผู้รับโอนได้ยึดถือหุ้นหรือครอบครองหุ้นมาเป็นเวลา ๕ ปี ก็ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา ๑๓๘๒ ได้
(๒) สิทธิตามสัญญาจะซื้อจะขาย
(๓) สิทธิตามสัญญาเช่าซื้อ
(๔) สิทธิในการทำเหมืองแร่ตามประทานบัตร
ข้อสังเกต การโอนสิทธิประทานบัตรนั้นหากมีเงื่อนไขเป็นพิเศษว่าเป็นการให้เฉพาะตัวแก่ คนใดคนหนึ่ง ก็จะโอนกันไม่ได้หรือจะนำมาชำระหนี้ไม่ได้ด้วย

กรณีเครื่องหมายการค้าศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เครื่องหมายการค้าเป็นทรัพย์สินทางปัญญาอย่างหนึ่ง ไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ไม่มีรูปร่าง ทั้งไม่อาจยึดถือครอบครองได้อย่างทรัพย์สินทั่วไปตามมาตรา ๑๓๘๒
                            


 acknowledgment ;  http://www.siamjurist.com/forums/1606.html

วันอังคารที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2554

หมวด 1 ตัวบทกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ ว่าด้วย "ทรัพย์"

ประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์
บรรพ1 หลักทั่วไป

ลักษณะ 3 ทรัพย์
มาตรา 137 ทรัพย์ หมายความว่า วัตถุมีรูปร่าง
มาตรา 138 ทรัพย์สิน หมายความรวมทั้งทรัพย์และวัตถุไม่มี รูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้
มาตรา 139 อสังหาริมทรัพย์ หมายความว่า ที่ดินและทรัพย์อัน ติดอยู่กับที่ดินมีลักษณะเป็นการถาวรหรือประกอบเป็นอันเดียวกับ ที่ดินนั้นและหมายความรวมถึงทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับที่ดิน หรือ ทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดิน หรือประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้นด้วย
มาตรา 140 สังหาริมทรัพย์ หมายความว่า ทรัพย์สินอื่นนอก จากอสังหาริมทรัพย์ และหมายความรวมถึงสิทธิอันเกี่ยวกับทรัพย์สิน นั้นด้วย
มาตรา 141 ทรัพย์แบ่งได้ หมายความว่า ทรัพย์อันอาจแยกออก จากกันเป็นส่วน ๆ ได้จริงถนัดชัดแจ้ง แต่ละส่วนได้รูปบริบูรณ์ลำพังตัว
มาตรา 142 ทรัพย์แบ่งไม่ได้ หมายความว่า ทรัพย์อันจะแยก ออกจากกันไม่ได้นอกจากเปลี่ยนแปลงภาวะของทรัพย์ และ หมายความรวมถึงทรัพย์ที่มีกฎหมายบัญญัติว่าแบ่งไม่ได้ด้วย
มาตรา 143 ทรัพย์นอกพาณิชย์ หมายความว่า ทรัพย์ที่ไม่ สามารถถือเอาได้ และทรัพย์ที่โอนแก่กันมิได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
มาตรา 144 ส่วนควบของทรัพย์ หมายความว่า ส่วนซึ่งโดย สภาพแห่งทรัพย์ หรือโดยจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นเป็นสาระสำคัญ ในความเป็นอยู่ของทรัพย์นั้น และไม่อาจแยกจากกันได้นอกจากจะ ทำลาย ทำให้บุบสลาย หรือทำให้ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรงหรือ สภาพไป
เจ้าของทรัพย์ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในส่วนควบของทรัพย์นั้น
มาตรา 145 ไม้ยืนต้นเป็นส่วนควบกับที่ดินที่ไม้นั้นขึ้นอยู่
ไม้ล้มลุกหรือธัญชาติอันจะเก็บเกี่ยวรวงผลได้คราวหนึ่ง หรือหลายคราวต่อปีไม่เป็นส่วนควบกับที่ดิน
มาตรา 146 ทรัพย์ ซึ่งติดกับที่ดินหรือติดกับโรงเรือนเพียงชั่วคราว ไม่ถือว่าเป็นส่วนควบกับที่ดินหรือโรงเรือนนั้น ความข้อนี้ให้ใช้บังคับ แก่โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นซึ่งผู้มีสิทธิในที่ดินของผู้อื่นใช้ สิทธินั้นปลูกสร้างไว้ในที่ดินนั้นด้วย
มาตรา 147 อุปกรณ์ หมายความว่า สังหาริมทรัพย์ซึ่งโดย ปกตินิยมเฉพาะถิ่น หรือโดยเจตนาชัดแจ้งของเจ้าของทรัพย์ที่เป็น ประธานเป็นของใช้ประจำอยู่กับทรัพย์ที่เป็นประธานเป็นอาจิณเพื่อ ประโยชน์แก่การจัดดูแล ใช้สอย หรือรักษาทรัพย์ที่เป็นประธาน และ เจ้าของทรัพย์ได้นำมาสู่ทรัพย์ที่เป็นประธานโดยการนำมาติดต่อหรือ ปรับเข้าไว้ หรือทำโดยประการอื่นใดในฐานะเป็นของใช้ประกอบกับ ทรัพย์ที่เป็นประธานนั้น
อุปกรณ์ที่แยกออกจากทรัพย์ที่เป็นประธานเป็นการชั่วคราวก็ ยังไม่ขาดจากการเป็นอุปกรณ์ของทรัพย์ที่เป็นประธานนั้น
อุปกรณ์ย่อมตกติดไปกับทรัพย์ที่เป็นประธาน เว้นแต่จะมีการ กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
มาตรา 148 ดอกผลของทรัพย์ ได้แก่ ดอกผลธรรมดาและดอกผล นิตินัย
ดอกผลธรรมดา หมายความว่า สิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของ ทรัพย์ซึ่งได้มาจากตัวทรัพย์ โดยการมีหรือใช้ทรัพย์นั้นตามปกตินิยม และสามารถถือเอาได้เมื่อขาดจากทรัพย์นั้น
ดอกผลนิตินัย หมายความว่า ทรัพย์หรือประโยชน์อย่างอื่นที่ ได้มาเป็นครั้งคราวแก่เจ้าของทรัพย์จากผู้อื่นเพื่อการที่ได้ใช้ทรัพย์นั้น และสามารถคำนวณและถือเอาได้เป็นรายวันหรือตามระยะเวลาที่ กำหนดไว้ 

บรรพ 4 ทรัพย์สิน
ลักษณะ 1 บทเบ็ดเสร็จทั่วไป

มาตรา 1298 ทรัพย์สินทั้งหลายนั้น ท่านว่าจะก่อตั้งขึ้นได้แต่ด้วยอาศัย อำนาจในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น

มาตรา 1299 ภาย ในบังคับแห่งบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้หรือ กฎหมายอื่น ท่านว่าการได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอัน เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่บริบูรณ์ เว้นแต่นิติกรรมจะได้ทำเป็นหนังสือและ ได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่
ถ้ามีผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริม ทรัพย์ โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม สิทธิของผู้ได้มานั้น ถ้ายังมิได้จดทะเบียนไซร้ ท่านว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้ และสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียน นั้น มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและ โดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว

มาตรา 1300 ถ้า ได้จดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิ อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์เป็นทางเสียเปรียบแก่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะ ให้จด ทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นอาจเรียกให้เพิกถอนการ จดทะเบียนนั้นได้ แต่การโอนอันมีค่าตอบแทน ซึ่งผู้รับโอนกระทำการโดย สุจริตนั้นไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ท่านว่าจะเรียกให้เพิกถอนทะเบียนไม่ได้

มาตรา 1301 บทบัญญัติแห่งสอง มาตรา ก่อนนี้ ท่านให้ใช้บังคับถึงการ เปลี่ยนแปลง ระงับ และกลับคืนมาแห่งทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ นั้นด้วยโดยอนุโลม
มาตรา 1302 บทบัญญัติแห่งสาม มาตรา ก่อนนี้ ท่านให้ใช้บังคับถึงเรือ กำปั่น หรือเรือมีระวางตั้งแต่หกตันขึ้นไป เรือกลไฟ หรือเรือยนต์ มีระวาง ตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งแพและสัตว์พาหนะด้วยโดยอนุโลม

มาตรา 1303 ถ้าบุคคลหลายคนเรียกเอาสังหาริมทรัพย์เดียวกันโดย อาศัยหลักกรรมสิทธิ์ต่างกันไซร้ ท่านว่าทรัพย์สินตกอยู่ในครอบครองของบุคคล ใดบุคคลนั้นมีสิทธิยิ่งกว่าบุคคลอื่น ๆ แต่ต้องได้ทรัพย์นั้นมาโดยมีค่าตอบแทน และได้การครอบครองโดยสุจริต
ท่านมิให้ใช้ มาตรานี้ บังคับถึงสังหาริมทรัพย์ซึ่งระบุไว้ใน มาตรา ก่อน และ ในเรื่องทรัพย์สินหาย กับทรัพย์สินที่ได้มาโดยการกระทำผิด

มาตรา 1304 สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น รวมทรัพย์สินทุกชนิดของ แผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่น
(1) ที่ดินรกร้างว่างเปล่า และที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืนหรือทอดทิ้งหรือกลับมา เป็นของแผ่นดินโดยประการอื่น ตามกฎหมายที่ดิน
(2) ทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เป็นต้นว่า ที่ชายตลิ่ง ทางน้ำ ทางหลวง ทะเลสาบ
(3) ทรัพย์สินใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ เป็นต้นว่า ป้อม และโรงทหาร สำนักราชการบ้านเมือง เรือรบ อาวุธยุทธภัณฑ์

มาตรา 1305 ทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นจะโอนแก่กัน มิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา
มาตรา 1306 ท่านห้ามมิให้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับแผ่นดินใน เรื่องทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
มาตรา 1307 ท่านห้ามมิให้ยึดทรัพย์สินของแผ่นดิน ไม่ว่าทรัพย์สินนั้น จะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่

ลักษณะ2 กรรมสิทธิ์
หมวด1 การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์

มาตรา 1308 ที่ดินแปลงใดเกิดที่งอกริมตลิ่ง ที่งอกย่อมเป็นทรัพย์สิน ของเจ้าของที่ดินแปลงนั้น

มาตรา 1309 เกาะที่เกิดในทะเลสาบ หรือในทางน้ำ หรือในเขตน่าน น้ำของประเทศก็ดี และท้องทางน้ำที่เขินขึ้นก็ดี เป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน

มาตรา 1310 บุคคลใดสร้างโรงเรือนในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินเป็นเจ้าของโรงเรือนนั้น ๆ แต่ต้องใช้ค่าแห่งที่ดิน เพียงที่เพิ่มขึ้นเพราะสร้างโรงเรือนนั้นให้แก่ผู้สร้าง
แต่ถ้าเจ้าของที่ดินสามารถแสดงได้ว่า มิได้มีความประมาทเลินเล่อ จะบอกปัดไม่ยอมรับโรงเรือนนั้นและเรียกให้ผู้สร้างรื้อถอนไป และ ทำที่ดินให้เป็นตามเดิมก็ได้ เว้นไว้แต่ถ้าการนี้จะทำไม่ได้โดยใช้เงิน พอควรไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินจะเรียกให้ผู้สร้างซื้อที่ดินทั้งหมด หรือแต่บางส่วนตามราคาตลาดก็ได้

มาตรา 1311 บุคคลใดสร้างโรงเรือนในที่ดินของผู้อื่นโดยไม่สุจริตไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นต้องทำที่ดินให้เป็นตามเดิมแล้วส่งคืนเจ้าของ เว้นแต่เจ้าของ จะเลือกให้ส่งคืนตามที่เป็นอยู่ ในกรณีเช่นนี้เจ้าของที่ดินต้องใช้ราคาโรงเรือน หรือใช้ค่าแห่งที่ดินเพียงที่เพิ่มขึ้นเพราะสร้างโรงเรือนนั้น แล้วแต่จะเลือก

มาตรา 1312 บุคคลใดสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดย สุจริตไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นเป็นเจ้าของโรงเรือนที่สร้างขึ้น แต่ต้องเสียเงินให้แก่เจ้าของที่ดินเป็นค่าใช้ที่ดินนั้น และจดทะเบียนสิทธิเป็นภารจำยอม ต่อภายหลังถ้าโรงเรือนนั้นสลายไปทั้งหมด เจ้าของที่ดินจะเรียกให้เพิกถอน การจดทะเบียนเสียก็ได้
ถ้าบุคคลผู้สร้างโรงเรือนนั้นกระทำการโดยไม่สุจริต ท่านว่าเจ้าของที่ ดินจะเรียกให้ผู้สร้างรื้อถอนไป และทำที่ดินให้เป็นตามเดิมโดยผู้สร้างเป็นผู้ ออกค่าใช้จ่ายก็ได้

มาตรา 1313 ถ้าผู้เป็นเจ้าของที่ดินโดยมีเงื่อนไขสร้างโรงเรือนในที่ ดินนั้น และภายหลังที่ดินตกเป็นของบุคคลอื่นตามเงื่อนไขไชร้ ท่านให้นำ บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับ

มาตรา 1314 ท่านให้ใช้บทบัญญัติ มาตรา 1310 , 1311 และ 1313 บังคับตลอดถึงการก่อสร้างใด ๆ ซึ่งติดที่ดินและการเพาะปลูกต้นไม้หรือธัญชาติ ด้วยโดยอนุโลม
แต่ข้าวหรือธัญชาติอย่างอื่นอันจะเก็บเกี่ยวรวงผลได้คราวหนึ่งหรือหลาย คราวต่อปี เจ้าของที่ดินต้องยอมให้บุคคลผู้กระทำการโดยสุจริต หรือผู้เป็น เจ้าของที่ดินโดยมีเงื่อนไข ซึ่งได้เพาะปลูกลงไว้นั้นคงครองที่ดินจนกว่าจะ เสร็จการเก็บเกี่ยวโดยใช้เงินคำนวณตามเกณฑ์ค่าเช่าที่ดินนั้น หรือเจ้าของที่ ดินจะเข้าครอบครองในทันทีโดยใช้ค่าทดแทนให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งก็ได้

มาตรา 1315 บุคคลใดสร้างโรงเรือน หรือทำการก่อสร้างอย่างอื่น ซึ่งติดที่ดิน หรือเพาะปลูกต้นไม้หรือธัญชาติในที่ดินของตนด้วย สัมภาระของผู้อื่นท่านว่าบุคคลนั้นเป็นเจ้าของสัมภาระ แต่ต้องใช้ค่า สัมภาระ

มาตรา 1316 ถ้าเอาสังหาริมทรัพย์ของบุคคลหลายคนมารวมเข้ากันจน เป็นส่วนควบหรือแบ่งแยกไม่ได้ไซร้ ท่านว่าบุคคลเหล่านั้นเป็นเจ้าของรวม แห่งทรัพย์ที่รวมเข้ากัน แต่ละคนมีส่วนตามค่าแห่งทรัพย์ของตนในเวลาที่รวม เข้ากับทรัพย์อื่น
ถ้าทรัพย์อันหนึ่งอาจถือได้ว่าเป็นทรัพย์ประธานไซร้ ท่านว่าเจ้าของ ทรัพย์นั้นเป็นเจ้าของทรัพย์ที่รวมเข้ากันแต่ผู้เดียว แต่ต้องใช้ค่าแห่งทรัพย์ อื่น ๆ ให้แก่เจ้าของทรัพย์นั้น ๆ

มาตรา 1317 บุคคล ใดใช้สัมภาระของบุคคลอื่นทำสิ่งใดขึ้นใหม่ไซร้ ท่านว่าเจ้าของสัมภาระเป็นเจ้าของสิ่งนั้นโดยมิต้องคำนึงว่าสัมภาระนั้นจะ กลับคืนตามเดิมได้หรือไม่ แต่ต้องใช้ค่าแรงงาน
แต่ถ้าค่าแรงงานเกินกว่าค่าสัมภาระที่ใช้นั้นมากไซร้ ท่านว่าผู้ทำเป็น เจ้าของทรัพย์ที่ทำขึ้น แต่ต้องใช้ค่าสัมภาระ

มาตรา 1318 บุคคลอาจได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์แห่งสังหาริมทรัพย์อันไม่มี เจ้าของโดยเข้าถือเอา เว้นแต่การเข้าถือเอานั้นต้องห้ามตามกฎหมายหรือ ฝ่าฝืนสิทธิของบุคคลอื่นที่จะเข้าถือเอาสังหาริมทรัพย์นั้น
มาตรา 1319 ถ้าเจ้าของสังหาริมทรัพย์เลิกครอบครองทรัพย์ด้วย เจตนาสละกรรมสิทธิ์ไซร้ ท่านว่าสังหาริมทรัพย์นั้นไม่มีเจ้าของ
มาตรา 1320 ภายในบังคับแห่งกฎหมายเฉพาะและกฎข้อบังคับในเรื่อง นั้น ท่านว่าสัตว์ป่าไม่มีเจ้าของตราบเท่าที่ยังอยู่อิสระสัตว์ป่าในสวนสัตว์และ ปลาในบ่อ หรือในที่น้ำซึ่งเจ้าของกั้นไว้นั้น ท่านว่าไม่ใช่สัตว์ไม่มีเจ้าของ
สัตว์ป่าที่คนจับได้นั้น ถ้ามันกลับคืนอิสระและเจ้าของไม่ติดตามโดยพลัน หรือเลิกติดตามเสียแล้ว ฉะนี้ท่านว่าไม่มีเจ้าของ
สัตว์ซึ่งเลี้ยงเชื่องแล้ว ถ้ามันทิ้งที่ไปเลย ท่านว่าไม่มีเจ้าของ
มาตรา 1321 ภายในบังคับแห่งกฎหมายเฉพาะและกฎข้อบังคับในเรื่อง นั้น ผู้ใดจับสัตว์ป่าได้ในที่รกร้างว่างเปล่า หรือในที่น้ำสาธารณะก็ดี หรือจับ ได้ในที่ดิน หรือที่น้ำมีเจ้าของโดยเจ้าของมิได้แสดงความหวงห้ามก็ดี ท่านว่า ผู้นั้นเป็นเจ้าของสัตว
์ มาตรา 1322 บุคคลใดทำให้สัตว์ป่าบาดเจ็บแล้วติดตามไปและบุคคลอื่น จับสัตว์นั้นได้ก็ดี หรือสัตว์นั้นตายลงในที่ดินของบุคคลอื่นก็ดี ท่านว่าบุคคล แรกเป็นเจ้าของสัตว์
มาตรา 1323 บุคคลเก็บได้ซึ่งทรัพย์สินหาย ต้องทำอย่างหนึ่งอย่างใด ดั่งต่อไปนี้
(1) ส่งมอบทรัพย์สินนั้นแก่ผู้ของหายหรือเจ้าของ หรือบุคคลอื่นผู้มีสิทธิ จะรับทรัพย์สินนั้น หรือ
(2) แจ้งแก่ผู้ของหายหรือเจ้าของ หรือบุคคลอื่นผู้มีสิทธิจะรับทรัพย์สิน นั้นโดยมิชักช้า หรือ
(3) ส่งมอบทรัพย์สินนั้นแก่ตำรวจนครบาล หรือพนักงานเจ้าหน้าที่อื่น ภายในสามวัน และแจ้งพฤติการณ์ตามที่ทราบอันอาจเป็นเครื่องช่วยในการสืบ หาตัวบุคคลผู้มีสิทธิจะรับทรัพย์สินนั้น
แต่ถ้าไม่ทราบตัวผู้ของหาย เจ้าของ หรือบุคคลอื่นผู้มีสิทธิจะรับทรัพย์สิน ก็ดี หรือบุคคลดั่งระบุนั้นไม่รับมอบทรัพย์สินก็ดี ท่านให้ดำเนินการตามวิธีอัน บัญญัติไว้ในอนุ มาตรา (3)
ทั้งนี้ ท่านว่าผู้เก็บได้ซึ่งทรัพย์สินหายต้องรักษาทรัพย์สินนั้นไว้ด้วย ความระมัดระวังอันสมควรจนกว่าจะส่งมอบ
มาตรา 1324 ผู้เก็บได้ซึ่งทรัพย์สินหาย อาจเรียกร้องเอารางวัลจาก บุคคลผู้มีสิทธิจะรับทรัพย์สินนั้นเป็นจำนวนร้อยละสิบแห่งค่าทรัพย์สินภายใน ราคาพันบาท และถ้าราคาสูงกว่านั้นขึ้นไป ให้คิดให้อีกร้อยละห้าในจำนวน ที่เพิ่มขึ้นแต่ถ้าผู้เก็บได้ซึ่งทรัพย์สินหาย ได้ส่งมอบทรัพย์สินแก่ตำรวจ นครบาล หรือพนักงานเจ้าหน้าที่อื่นไซร้ ท่านว่าให้เสียเงินอีกร้อยละสองครึ่ง แห่งค่าทรัพย์สินเป็นค่าธรรมเนียมแก่ทบวงการนั้น ๆ เพิ่มขึ้นเป็นส่วนหนึ่ง ต่างหากจากรางวัลซึ่งให้แก่ผู้เก็บได้ แต่ค่าธรรมเนียมนี้ท่านจำกัดไว้ไม่ให้ เกินร้อยบาท
ถ้าผู้เก็บได้ซึ่งทรัพย์สินหายมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติใน มาตรา ก่อนไซร้ ท่านว่าผู้นั้นไม่มีสิทธิจะรับรางวัล
มาตรา 1325 ถ้าผู้เก็บได้ซึ่งทรัพย์สินหายได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติ มาตรา 1323 แล้ว และผู้มีสิทธิจะรับทรัพย์สินนั้นมิได้เรียกเอาภายในหนึ่งปีนับแต่วัน ที่เก็บได้ไซร้ ท่านว่ากรรมสิทธิ์ตกแก่ผู้เก็บได้
แต่ถ้าทรัพย์สินซึ่งไม่มีผู้เรียกเอานั้นเป็นโบราณวัตถุไซร้ กรรมสิทธิ์แห่ง ทรัพย์สินนั้นตกแก่แผ่นดิน แต่ผู้เก็บได้มีสิทธิจะได้รับรางวัลร้อยละสิบแห่งค่า ทรัพย์สินนั้น
มาตรา 1326 การเก็บได้ซึ่งทรัพย์สินอันตกหรือทิ้งทะเล หรือทางน้ำ หรือน้ำซัดขึ้นฝั่งนั้น ท่านให้บังคับตามกฎหมายและกฎข้อบังคับว่าด้วย การนั้น
มาตรา 1327 ภายในบังคับแห่งกฎหมายอาญา กรรมสิทธิ์แห่งสิ่งใด ๆ
ซึ่ง ได้ใช้ในการกระทำผิด หรือได้มาโดยการกระทำผิดหรือเกี่ยวกับการกระ ทำผิดโดยประการอื่น และได้ส่งไว้ในความรักษาของกรมในรัฐบาลนั้น ท่าน ว่าตกเป็นของแผ่นดิน ถ้าเจ้าของมิได้เรียกเอาภายในหนึ่งปีนับแต่วันส่ง หรือถ้าได้ฟ้องคดีอาญาต่อศาลแล้วนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด แต่ถ้า ไม่ทราบตัวเจ้าของ ท่านให้ผ่อนเวลาออกไปเป็นห้าปี
ถ้าทรัพย์สินเป็นของเสียง่าย หรือถ้าหน่วงช้าไว้จะเป็นการเสี่ยงความ เสียหายหรือค่าใช้จ่ายจะเกินส่วนกับค่าของทรัพย์สินนั้นไซร้ ท่านว่ากรม ในรัฐบาลจะจัดให้เอาออกขายทอดตลาดก่อนถึงกำหนดก็ได้ แต่ก่อนที่จะ ขายให้จัดการตามควรเพื่อบันทึกรายการอันเป็นเครื่องให้บุคคลผู้มีสิทธิ จะรับทรัพย์สินนั้น อาจทราบว่าเป็นทรัพย์สินของตนและพิสูจน์สิทธิได้ เมื่อขายแล้วได้เงินเป็นจำนวนสุทธิเท่าใดให้ถือไว้แทนตัวทรัพย์สิน
มาตรา 1328 สังหาริมทรัพย์มีค่าซึ่งซ่อนหรือฝังไว้นั้น ถ้ามีผู้เก็บได้โดย พฤติการณ์ซึ่งไม่มีผู้ใดสามารถอ้างว่าเป็นเจ้าของได้ไซร้ ท่านว่ากรรมสิทธิ์ตก เป็นของแผ่นดิน ผู้เก็บได้ต้องส่งมอบทรัพย์นั้นแก่ตำรวจนครบาล หรือพนักงาน เจ้าหน้าที่อื่น แล้วมีสิทธิจะได้รับรางวัลหนึ่งในสามแห่งค่าทรัพย์นั้น

มาตรา 1329 สิทธิของบุคคลผู้ได้มาซึ่งทรัพย์สินโดยมีค่าตอบแทนและ โดยสุจริตนั้น ท่านว่ามิเสียไป ถึงแม้ว่าผู้โอนทรัพย์สินให้จะได้ทรัพย์สิน นั้นมาโดยนิติกรรมอันเป็นโมฆียะ และนิติกรรมนั้นได้ถูกบอกล้างภายหลัง

มาตรา 1330 สิทธิของบุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินโดยสุจริตในการขายทอด ตลาดตามคำสั่งศาล หรือคำสั่งเจ้าพนักงานรักษาทรัพย์ในคดีล้มละลายนั้น ท่านว่ามิเสียไป ถึงแม้ภายหลังจะพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์สินนั้นมิใช่ของจำเลย หรือลูกหนี้โดยคำพิพากษา หรือผู้ล้มละลาย

มาตรา 1331 สิทธิของบุคคลผู้ได้เงินตรามาโดยสุจริตนั้นท่านว่ามิเสีย ไป ถึงแม้ภายหลังจะพิสูจน์ได้ว่าเงินนั้นมิใช่ของบุคคลซึ่งได้โอนให้มา

มาตรา 1332 บุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินมาโดยสุจริตในการขายทอดตลาด หรือในท้องตลาด หรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น ไม่จำต้องคืนให้แก่ เจ้าของแท้จริง เว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมา

มาตรา 1333 ท่านว่ากรรมสิทธิ์นั้น อาจได้มาโดยอายุความตามที่บัญญัติ ไว้ในลักษณะ 3 แห่งบรรพนี้
มาตรา 1334 ที่ดินรกร้างว่างเปล่า และที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืนหรือทอดทิ้ง หรือกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการอื่นตามกฎหมายที่ดินนั้น ท่านว่า บุคคลอาจได้มาตามกฎหมายที่ดิน